‘แคชเมียร์’ ชนวนขัดแย้งอินเดีย VS ปากีสถาน ทำไมทั้ง 2 ประเทศต้องแย่งชิงกัน

8 พ.ค. 2568 - 09:02

  • ที่ผ่านมา อินเดียและปากีสถานเคยเกิดสงครามมาแล้ว 2 ครั้ง รวมถึงความขัดแย้งเพียงเล็กน้อยในดินแดนแคชเมียร์ที่ถูกแบ่งเป็น 2 ฝั่ง

  • แต่เหตุใดทั้งสองประเทศถึงต้องแย่งดินแดนแคชเมียร์...มันเกิดอะไรขึ้น?

 

อินเดียเปิดฉากโจมตีปากีสถานเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันพุธ (7 พ.ค.) หลังอินเดียกล่าวหาปากีสถานว่าอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีพลเรือนในแคชเมียร์ที่อินเดียปกครองเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 26 ราย แต่ทางการปากีสถานปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ หลังจากนั้นทั้งสองประเทศต่างก็ยิงปะทะกันในพื้นที่แคชเมียร์ ขับไล่พลเมืองของกันและกัน และสั่งปิดพรมแดน   

ที่ผ่านมา อินเดียและปากีสถานเคยเกิดสงครามมาแล้ว 2 ครั้ง รวมถึงความขัดแย้งเพียงเล็กน้อยในดินแดนแคชเมียร์ที่ถูกแบ่งเป็น 2 ฝั่ง แต่เหตุใดทั้งสองประเทศถึงต้องแย่งดินแดนดังกล่าว...มันเกิดอะไรขึ้น? 

ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นมานานแค่ไหนแล้ว... 


‘แคชเมียร์’ ภูมิภาคหิมาลัยที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ดินแดนที่มีชื่อเสียงในเรื่องความสวยงามของทะเลสาบ ทุ่งหญ้า และภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ แม้กระทั่งก่อนที่อินเดียและปากีสถานจะได้รับเอกราชจากอังกฤษในเดือนสิงหาคมปี 1947 พื้นที่แห่งนี้ก็เป็นที่พิพาทกันอย่างดุเดือดอยู่ก่อนแล้ว 

ภายใต้แผนการแบ่งแยกดินแดนที่จัดทำโดยพระราชบัญญัติเอกราชของอินเดีย (Indian Independence Act) ภูมิภาคแคชเมียร์ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม สามารถเลือกเข้าร่วมกับอินเดีย หรือปากีสถานก็ได้   

ฮารี สิงห์ เจ้าผู้ครองรัฐ (มหาราชา) ต้องการให้แคชเมียร์ได้รับเอกราชในตอนแรก แต่ในเดือนตุลาคม 1947 เจ้าผู้ครองรัฐกลับเลือกที่จะเข้าร่วมกับอินเดีย เพื่อแลกกับความช่วยเหลือในการต่อต้านการรุกรานของชนเผ่าจากปากีสถาน 

เมื่อสงครามปะทุขึ้น อินเดียก็ขอให้สหประชาชาติ (UN) เข้าแทรกแซง ซึ่ง UN เสนอให้ลงประชามติเพื่อตัดสินว่ารัฐแคชเมียร์จะเข้าร่วมกับอินเดียหรือปากีสถาน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นถอนกำลังทหารออกจากภูมิภาคนี้ก่อนที่จะมีการจัดประชามติ   

ในเดือนกรกฎาคม 1949 อินเดียและปากีสถานได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อกำหนดเส้นหยุดยิงตามข้อเสนอของสหประชาชาติ ทำให้ภูมิภาคนี้ถูกแบ่งแยกออกจากกัน จากนั้นในปี 1965 ก็เกิดสงครามแย่งแคชเมียร์ครั้งที่ 2 ขึ้น ต่อมาในปี 1999 อินเดียได้สู้รบกับกองกำลังที่ได้รับการสนับสนุนจากปากีสถานอีกครั้ง แม้จะเป็นความขัดแย้งที่กินเวลาไม่นานแต่ก็รุนแรง 

ในช่วงเวลานั้น อินเดียและปากีสถานต่างก็ได้รับการประกาศให้เป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์  ปัจจุบัน ทั้งอินเดีย และปากีสถานต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนแคชเมียร์ทั้งหมด แต่แต่ละฝ่ายควบคุมได้เพียงบางส่วนของภูมิภาคนี้เท่านั้น 

ทำไม ‘ความไม่สงบ’ มักเกิดที่แคชเมียร์ในส่วนที่อินเดียปกครอง? 

kashmir-why-india-pakistan-fight-over-it-SPACEBAR-Photo01.jpg
(Photo by Sajjad HUSSAIN / AFP)

ผู้คนในแคชเมียร์ต่างก็มีความคิดเห็นที่หลากหลาย และส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ดินแดนนี้อยู่ภายใต้การปกครองของอินเดีย แต่ต้องการเอกราช หรือรวมเข้ากับปากีสถานแทน ทั้งนี้พบว่าศาสนาเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากประชากรกว่า 60% ของแคว้นจัมมูและแคชเมียร์นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นส่วนเดียวของอินเดียที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ 

ตั้งแต่ปี 1989 มีการก่อกบฏติดอาวุธต่อต้านการปกครองของอินเดียในภูมิภาคนี้ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปหลายหมื่นราย โดยฝั่งอินเดียกล่าวหาปากีสถานว่าสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในแคชเมียร์ แต่ปากีสถานปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ 

ในปี 2019 รัฐบาลอินเดียได้เพิกถอนสถานะ ‘กึ่งปกครองตัวเอง’ ของแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอินเดีย ท่ามกลางการปราบปรามด้านความมั่นคงอย่างเข้มงวด 

หลายปีต่อมา หลังจากเพิกถอนสถานะพิเศษของภูมิภาค ความรุนแรงก็ลดลง และจำนวนนักท่องเที่ยวก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย 

เกิดอะไรขึ้น...หลังจากการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายในแคชเมียร์ครั้งก่อนๆ 

kashmir-why-india-pakistan-fight-over-it-SPACEBAR-Photo02-1.jpg
(Photo by FAROOQ NAEEM / AFP)

ในปี 2016 หลังจากทหารอินเดีย 19 นายถูกสังหารที่เมืองอูรี อินเดียได้เปิดปฏิบัติการ ‘โจมตีทางทหาร’ ข้ามเส้นควบคุม (Line of Control) ซึ่งเป็นพรมแดนโดยพฤตินัยระหว่างอินเดียกับปากีสถาน โดยโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธ 

ต่อมาในปี 2019 เกิดเหตุรถบรรทุกระเบิดพุ่งชนรถบัสที่มีทหารอินเดียในเมืองปุลวามา ทำให้เจ้าหน้าที่อินเดียชีวิตมากกว่า 40 นาย ส่งผลให้อินเดียเปิดฉากโจมตีทางอากาศลึกเข้าไปในเมืองบาลาโกต ซึ่งถือเป็นการโจมตีภายในปากีสถานครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1971 เหตุการณ์นี้นำไปสู่การโจมตีตอบโต้และการปะทะทางอากาศระหว่างสองฝ่าย 

ความตึงเครียดปะทุขึ้นอีกครั้งในเดือนเมษายน 2025 หลังจากความขัดแย้งสงบมาหลายปี เมื่อกลุ่มติดอาวุธโจมตีนักท่องเที่ยวใกล้เมืองปาฮาลกัมในแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอินเดีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 26 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู นับเป็นเหตุโจมตีพลเรือนที่รุนแรงที่สุดในรอบสองทศวรรษ 

สองสัปดาห์ต่อมา อินเดียตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธโจมตีเป้าหมายในปากีสถานและแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของปากีสถาน ทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับการยกระดับความขัดแย้งและมีการเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยับยั้งชั่งใจ   

แล้วสันติภาพล่ะ (?) 

ในปัจจุบัน แคชเมียร์ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีกองกำลังทหารมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อินเดียและปากีสถานได้ตกลงหยุดยิงกันในปี 2003 แต่หลังจากนายกฯ นเรนทรา โมดี  ดำรงตำแหน่งในปี 2014 อินเดียก็มีท่าทีแข็งกร้าวต่อปากีสถาน ในขณะเดียวกันก็แสดงความสนใจที่จะเจรจาสันติภาพด้วย ถึงขนาดที่ นาวาซ ชาริฟ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกฯ ของปากีสถาน ก็ได้เดินทางมาร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของนายกฯ นเรนทรา โมดี ที่กรุงเดลี 

แต่ 1 ปีต่อมา อินเดียกล่าวโทษกลุ่มที่มีฐานอยู่ในปากีสถานว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีฐานทัพอากาศที่เมืองปาทานโคต รัฐปัญจาบ ทางตอนเหนือของอินเดีย นอกจากนี้ โมดียังยกเลิกการเยือนกรุงอิสลามาบัดเพื่อประชุมสุดยอดระดับภูมิภาคในปี 2017 

นับแต่นั้นมา ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านนี้อีก 

(Photo by TAUSEEF MUSTAFA / AFP) 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์