การสนับสนุนอาวุธจากตะวันตกไปยังอินเดีย และจากจีนไปยังปากีสถานที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของแนวร่วมระดับโลก และอาจเป็นชนวนความขัดแย้งในระดับนานาชาติอีกครั้ง
ครั้งล่าสุดที่อินเดียกับปากีสถานเผชิญหน้ากันทางทหารในปี 2019 เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ พบการเคลื่อนย้ายอาวุธนิวเคลียร์ของทั้งสองประเทศเพียงพอที่จะสร้างความตื่นตัว จน ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะนั้นต้องตื่นกลางดึก เพื่อต่อสาย “โน้มน้าวให้แต่ละฝ่ายเชื่อว่าอีกฝ่ายไม่ได้กำลังเตรียมทำสงครามนิวเคลียร์” ตามที่ระบุไว้ในบันทึกชีวประวัติของเจ้าตัว
การเผชิญหน้าครั้งนั้นสงบลงอย่างรวดเร็วหลังการปะทะกันเล็กน้อย แต่ 6 ปีต่อมาทั้งสองประเทศขัดแย้งกันทางทหารอีกครั้งหลังกลุ่มก่อการร้ายโจมตีนักท่องเที่ยวในแคว้นแคชเมียร์ฝั่งที่อินเดียปกครอง และครั้งนี้มีองค์ประกอบความไม่แน่นอนใหม่เกิดขึ้น เนื่องจากพันธมิตรทางทหารที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลง
รูปแบบการหลั่งไหลของอาวุธที่เปลี่ยนแปลงไปแสดงให้เห็นแนวร่วมใหม่ในพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงของเอเชียแห่งนี้ที่ 3 มหาอำนาจนิวเคลียร์อย่างอินเดีย ปากีสถาน และจีนอยู่ใกล้ชิดกันแบบต่างคนต่างก็กังวลใจ
อินเดียที่ประกาศตัวว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมาตลอดได้ละทิ้งความลังเลที่มีต่อสหรัฐฯ ไปแล้ว ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐจากสหรัฐฯ และซัพพลายเออร์ตะวันตกรายอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน อินเดียได้ลดการซื้ออาวุธราคาถูกจากรัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรในยุคสงครามเย็นลงอย่างมาก
ปากีสถานที่ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯลดลง นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามอัฟกานิสถาน ก็ไม่ซื้ออาวุธซึ่งสหรัฐฯ เคยสนับสนุนให้ซื้อจากสหรัฐฯ อีกต่อไป แล้วหันไปซื้ออาวุธจำนวนมากจากจีนแทน
การเชื่อมโยงเหล่านี้ได้ผลักดันการเมืองของมหาอำนาจเข้าสู่ความขัดแย้งที่ยาวนานและยากจะแก้ไขที่สุดในเอเชียใต้
สหรัฐฯ ให้อินเดียเป็นพันธมิตรต่อต้านจีน ขณะที่จีนลงทุนอย่างลึกซึ้งในการสนับสนุนและอุปถัมภ์ปากีสถาน ขณะที่อินเดียใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากขึ้น
ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ของจีนกับอินเดียก็ย่ำแย่ลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเนื่องจากต่างก็อ้างสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนจนนำมาสู่การปะทะกันหลายครั้ง และความสัมพันธ์ของมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐฯ กับจีนก็ถึงจุดต่ำสุดเมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศสงครามการค้ากับจีน
ความสัมพันธ์ลักษณะนี้แสดงให้เห็นว่าพันธมิตรมีความซับซ้อนและสับสนเพียงใดเมื่อระเบียบโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองแตกแยก ความผันผวนนี้ยิ่งซับซ้อนจากประวัติศาสตร์ของเอเชียใต้ที่มีการเผชิญหน้าทางทหารบ่อยครั้ง โดยกองกำลังติดอาวุธของทั้งสองฝ่ายมักทำผิดพลาด จึงทำให้มีความเสี่ยงที่สถานการณ์จะลุกลามเกินการควบคุมมากขึ้น
“ตอนนี้สหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางของผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของอินเดีย ขณะที่จีนก็มีบทบาทเช่นเดียวกันนี้ในปากีสถาน”
— แอชลีย์ เทลลิส อดีตนักการทูตและนักวิจัยอาวุโสจาก Carnegie Endowment for International Peace
ขณะนี้อินเดียกำลังดำเนินการทางทหารต่อปากีสถาน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอินเดียมีฝ่ายสหรัฐฯ อยู่เคียงข้างอย่างเข้มแข็งมากขึ้นกว่าที่เคย
นายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมดี ของอินเดียพูดคุยกับทั้งทรัมป์และรองประธานาธิบดี เจดี แวนซ์ ในช่วงวันแรกๆ หลังการโจมตีในแคชเมียร์เมื่อวันที่ 22 เมษายน เจ้าหน้าที่หลายคนในอินเดียมองว่าเสียงสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทรัมป์เป็นไฟเขียวให้อินเดียตอบโต้ปากีสถาน แม้ว่าสหรัฐฯ จะเรียกร้องให้อินเดียอดทนอดกลั้นก็ตาม
สิ่งบ่งชี้ถึงพลวัตรที่เปลี่ยนแปลงไปคือ การที่ไม่มีสายของ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ในขณะที่โมดีรับสายจากผู้นำโลกหลายสิบคนหลังการโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียที่พูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย 1 สัปดาห์หลังการโจมตี และเจ้าหน้าที่เผยว่า โมดีกับปูตินเพิ่งคุยกันในสัปดาห์นี้
ส่วนจีนเองก็ให้การสนับสนุนปากีสถานเป็นอย่างมาก โดยเรียกปากีสถานว่าเป็น “เพื่อนที่แข็งแกร่งและหุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ทุกสถานการณ์”
แนวโน้มเหล่านี้อาจสะท้อนออกมามากขึ้นในความขัดแย้งทางทหาร
ลินด์ซีย์ ฟอร์ด อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และนักวิชาการอาวุโสจาก Observer Research Foundation America เผยว่า “หากคุณกำลังคิดว่าความขัดแย้งในอนาคตระหว่างอินเดียกับปากีสถานจะเป็นอย่างไร มันอาจดูเหมือนอินเดียสู้รบด้วยรูปแบบของสหรัฐฯ และยุโรป และปากีสถานสู้รบด้วยรูปแบบของจีน พันธมิตรด้านความมั่นคงที่ใกล้ชิดของทั้งสองประเทศมีการพัฒนาอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา”
![[object Object]](/_next/image?url=%2Fapi%2Fmedia%2Ffile%2FIndia-vs-pakistan-is-also-us-vs-china-when-it-comes-to-arms-sales-SPACEBAR-Photo01.jpg&w=3840&q=75)
สงครามเย็นได้กำหนดรูปแบบของพันธมิตรในเอเชียใต้ จนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้
อินเดีย แม้ว่าจะเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ก็ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตมากขึ้น อาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของอาวุธยุทโธปกรณ์ในกองทัพอินเดีย
ขณะที่ปากีสถาน เป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ กลายเป็นพันธมิตรแนวหน้าในการช่วยสหรัฐฯ เอาชนะโซเวียตในอัฟกานิสถาน ช่วงทศวรรษ 1980 กองทัพปากีสถานใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ดังกล่าวเพื่อเสริมคลังอาวุธของตัวเอง รวมทั้งการได้รับเครื่องบิน F-16 ที่หมายตาไว้ ซึ่งช่วยลดความเป็นผู้นำทางอากาศของอินเดีย
หลังสงครามเย็นทั้งสองประเทศต่างก็ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร เนื่องจากทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงทศวรรษ 1990 และตลอดช่วงสิบกว่าปีนั้นสหรัฐฯ ก็ปฏิเสธส่งมอบเครื่องบิน F-16 หลายสิบลำที่ปากีสถานจ่ายเงินไปแล้ว
แต่ชะตาของปากีสถานก็เปลี่ยนอีกครั้งหลังเหตุการโจมตีเพนตากอนและนิวยอร์กเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ปากีสถานกลายเป็นพันธมิตรแนวหน้าของสหรัฐฯ อีกครั้งในการประกาศสงครามกับการก่อการร้าย
แม้ว่าปากีสถานจะถูกกล่าวหาว่าตีสองหน้า คือให้ที่พักพิงแก่ผู้นำกลุ่มตาลีบันบนดินแดนของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือกองกำลังทหารสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน กองทัพสหรัฐฯก็ยังให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ปากีสถานหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐฯ กลายเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ที่สุดของปากีสถาน ส่วนจีนมาเป็นอันดับสอง
เมื่อความสำคัญของปากีสถานต่อสหรัฐฯ ลดลง ปากีสถานจึงหันไปหาจีนที่อ้าแขนต้อนรับมานานแล้ว
ข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม (SIPRI) ซึ่งศึกษาการไหลเวียนของอาวุธทั่วโลกอย่างใกล้ชิดระบุว่า จีนซึ่งเป็นแหล่งที่มาของอาวุธของปากีสถานเพียง 38% ในช่วงกลางทศวรรษ 2000 จัดหาอาวุธให้ปากีสถานประมาณ 80% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
ในเวลาเดียวกัน อินเดียตัดลดการพึ่งพาอาวุธจากรัสเซียลงมากกว่าครึ่ง ระหว่างปี 2006-2010 อาวุธหลักๆ ของอินเดียราว 80% มาจากรัสเซีย แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือราว 38% โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของอาวุธที่นำเข้ามาจากสหรัฐฯ และพันธมิตรอย่างฝรั่งเศสและอิสราเอล
ข้อยกเว้นสำหรับความขัดแย้งระหว่างปากีสถานกับสหรัฐฯ ก็คือโครงการ F-16 ปากีสถานซื้อเครื่องบิน F-16 เข้าประจำการเพิ่มขึ้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีรัฐบาลไบเดนช่วยผลักดันการทำสัญญามูลค่าเกือบ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการบริการและบำรุงรักษาเครื่องบิน F-16
ปี 2019 ปากีสถานใช้เครื่องบิน F-16 สอยเครื่องบนรบของอินเดียที่ผลิตโดยรัสเซีย อินเดียประท้วงว่าการกระทำดังกล่าวฝ่าฝืนข้อตกลงการซื้อขายระหว่างสหรัฐฯ กับปากีสถาน โดยอ้างว่าสัญญาดังกล่าวอนุญาตให้ใช้เครื่องบิน F-16 เฉพาะในภารกิจต่อต้านการก่อการร้ายเท่านั้น
และดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางคนพยายามเอาใจอินเดียโดยบอกว่าพวกเขาตำหนิปากีสถานแล้ว แต่เอกสารลับทางการทูตของสหรัฐฯ ระบุชัดเจนมานานแล้วว่า สหรัฐฯ รู้ถึงเจตนาของปากีสถานในการสร้างกองทัพอากาศเพื่อใช้ในกรณีขัดแย้งกับอินเดีย
การปะทะกันในปี 2019 ซึ่งเฮลิคอปเตอร์ของอินเดียลำหนึ่งก็ถูกยิงตกเช่นกัน ส่งผลให้มีกำลังพลเสียชีวิต 6 นาย นับเป็นการเผยให้เห็นถึงปัญหาของกองทัพอินเดีย นับตั้งแต่นั้นมาอินเดียก็ทุ่มงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐทำให้กองทัพทันสมัยขึ้น
และขณะที่อินเดียกำลังเผชิญหน้ากับปากีสถาน ภัยคุกคามที่ใหญ่กว่าอย่างจีนก็ไม่ได้นั่งดูเฉยๆ แต่ยังช่วยเหลือศัตรูของอินเดียด้วย
สำหรับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หลายคนที่จับตาดูความเคลื่อนไหวเมื่อปี 2019 อย่างใกล้ชิด ความผิดพลาดของมนุษย์ทำให้เห็นชัดเจนแล้วว่าสถานการณ์อาจเลวร้ายลงจนอยู่เหนือการควบคุมได้อย่างไร
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กังวลว่า ลัทธิชาตินิยมสุดโต่งทั้งในอินเดียและปากีสถาน โดยมีกองทหาร 2 กองที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ครบครัน ปฏิบัติการในเขตน่านฟ้าที่จำกัด และท่ามกลางความสงสัยซึ่งกันและกัน แม้แต่ข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ หรือคำสั่งที่เกินกว่าขอบเขตก็อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายได้
“วิกฤตการณ์ที่มีการโจมตีทางอากาศข้ามพรมแดนและการต่อสู้ทางอากาศแบบที่เราเคยเห็นเมื่อปี 2019 มีความเสี่ยงที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น” ฟอร์ด อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เผย “และนั่นยิ่งเป็นปัญหาเมื่อเกี่ยวข้องกับเพื่อนบ้านสองประเทศที่ต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์”
Photo by Narinder NANU / AFP เด็กนักเรียนพากันกลับบ้านหลังโรงเรียนในรัฐอมฤตสาร์ปิดการเรียนการสอนเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2025 เนื่องจากสถานการณ์ชายแดนอินเดีย-ปากีสถานตึงเครียด