บทสงครามอินเดีย-ปากีฯ ตอกย้ำเรากำลังอยู่ในโลกที่แต่ละประเทศพร้อมยิงขีปนาวุธใส่กันทุกเมื่อ

9 พ.ค. 2568 - 08:24

  • การโจมตีปากีสถานของอินเดียเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การทำสงครามถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นทั่วโลก

  • แม้ว่าความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจในเอเชียใต้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปฏิบัติการ “ซินดูร์” ของอินเดียถือเป็นการรุกคืบที่ก้าวร้าวมากกว่าปฏิบัติการทางทหารที่อินเดียเคยโจมตีปากีสถานในปี 2016 และ 2019

  • ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างก็ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งสองประเทศมีหัวรบนิวเคลียร์คนละราว 170 หัวรบ

สงครามเต็มรูปแบบไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายท่ามกลางความขัดแย้งในฉนวนกาซาและยูเครนบ่งชี้ว่าวิกฤตแคชเมียร์อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น 


การโจมตีปากีสถานซึ่งอินเดียอ้างว่าเพื่อตอบโต้เหตุการณ์ที่กลุ่มก่อการร้ายสังหารนักท่องเที่ยว 26 คนในแคว้นแคชเมียร์เมื่อเดือนที่แล้ว เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การทำสงครามถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นทั่วโลก และความอดทนอดกลั้นของระบบการทูตทั่วโลกอ่อนแอลง 


แม้ว่าความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจในเอเชียใต้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปฏิบัติการ “ซินดูร์” ของอินเดียถือเป็นการรุกคืบที่ก้าวร้าวมากกว่าปฏิบัติการทางทหารที่อินเดียเคยโจมตีปากีสถานในปี 2016 และ 2019  อย่างเห็นได้ชัด ยิ่งเพิ่มเดิมพันให้การตอบโต้ของปากีสถานต่อสิ่งที่ปากีสถานบอกว่าเป็น “เหตุแห่งสงคราม” 


อินเดียระบุว่า ปฏิบัติการซินดูร์มีเป้าหมาย 9 แห่ง และกองทัพอินเดียได้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่อินเดียอ้างว่าเป็น “แคมป์ของผู้ก่อการร้าย” ในปากีสถานที่ถูกโจมตี โดยเป้าหมาย 4 แห่งอยู่ในแคว้นปัญจาบ ซึ่งเป็นแคว้นที่มีประชากรหนาแน่นของปากีสถาน และไม่เคยถูกอินเดียโจมตีนับตั้งแต่ทั้งสองประเทศทำสงครามเต็มรูปแบบในปี 1971 

 

ปากีสถานบอกว่ามีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 26 ราย แม้ว่าเป้าหมายของอินเดียคือการ “ขัดขวางและป้องกัน” การโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายในอนาคต ตามที่ วิกรม มีศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียระบุ แต่ปากีสถานประกาศว่าจะตอบโต้ ทำให้เกิดคำถามว่าการตอบโต้กันไปมาระหว่างอินเดียกับปากีสถานจะสิ้นสุดเมื่อใด 


เหตุการณ์นี้สร้างความกังวลใจไม่น้อย เพราะทั้งอินเดียและปากีสถานต่างก็ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งสองประเทศมีหัวรบนิวเคลียร์คนละราว 170 หัวรบ ทั้งยังมีกองทัพและกองทัพอากาศค่อนข้างใหญ่ อินเดียมี 1.23 ล้านนาย และมีเครื่องบินขับไล่มากกว่า 500 ลำ ส่วนปากีสถานมี 560,000 นาย และเครื่องบินขับไล่มากกว่า 400 ลำ 

[object Object]
ระบบขีปนาวุธ Akash ถูกนำออกมาเข้าพิธีสวนสนามในวันชาติอินเดียเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2025 Photo by Sajjad HUSSAIN / AFP


แม้จะไม่มีใครคาดคิดอย่างจริงจังว่าจะเกิดสงครามเต็มรูปแบบ แต่การเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกแสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงระหว่างสองประเทศมหาอำนาจทางนิวเคลียร์อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น การโจมตีด้วยระเบิดเกิดขึ้นแล้วทั้งสองฝั่งของเส้นแบ่งเขตการควบคุม (Line of Control) ในแคชเมียร์ โดยปากีสถานรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 5 ราย และอินเดียพบ 7 ราย 


“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แนวคิดที่ว่าประเทศต่างๆ จะไม่ทำสงครามได้หายไป”

ซามีร์ ปูรี จากสถาบันคลังสมอง Chatham House

 

การรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบของรัสเซียเริ่มต้นในปี 2022 และดำเนินมาต่อเนื่องด้วยการยิงขีปนาวุธและโจมตีด้วยโดรนท่ามกลางความพยายามไกล่เกลี่ยของสหรัฐฯ และตอนนี้อิสราเอลกำลังวางแผนยึดครองฉนวนกาซา ในขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มหมดความสนใจที่จะพยายามยุติสงครามที่ชาวปาเลสไตน์ต้องสังเวยชีวิตแล้วกว่า 50,000 คน

 

แม้แต่ประเทศที่อยู่ห่างกันหลายพันไมล์ต่างก็โจมตีกัน ปี 2024 อิหร่านเปิดปฏิบัติการโจมตีอิสราเอล 2 ครั้ง เกาหลีเหนือส่งกำลังพลไปช่วยรัสเซียสู้รบกับยูเครน แม้ว่าประเทศตะวันตกจะไม่ได้ส่งกองกำลังไปช่วยยูเครนก็ตาม 

“เราอยู่ในโลกที่คู่แข่งและศัตรูพร้อมที่จะยิงขีปนาวุธใส่กันมากขึ้น” ซ

ซามีร์ ปูรี จากสถาบันคลัวสมอง Chatham House


การตอบโต้ทางทหารมักจะไม่ได้คำนวณอย่างระมัดระวัง การที่กลุ่มกบฏฮูษียิงจรวดไปตกใกล้กับสนามบินเบนกูเรียนในกรุงเทลอาวีฟของอิสราเอลจนมีผู้บาดเจ็บ 4 ราย ส่งผลให้อิสราเอลโจมตีตอบโต้จนสนามบินซานาได้รับความเสียหายกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาคารผู้โดยสารพังราบเป็นหน้ากลอง และทำลายเครื่องบิน 6 ลำ โดยกลุ่มกบฏฮูษีให้คำมั่นว่าจะโจมตีอิสราเอลต่อไป 


 แนวคิดของความได้สัดส่วนที่ถูกออกแบบเพื่อจำกัดความสูญเสียของพลเรือนกลายเป็นเรื่องล้าสมัย เพราะกลายเป็นการคุ้มกันแก่ประเทศอื่นในการโจมตี ชั่วข้ามคืนอิสราเอลกลุ่มฉนวนกาซาจนมีผู้เสียชีวิต 59 ราย รวมทั้งโจมตีโรงเรียนที่เป็นที่พักพิงของชาวปาเลสไตน์หายร้อยคนที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 27 ราย 


ส่วนที่พอจะมีข่าวดีอยู่บ้าง เช่น การสงบศึกระหว่างสหรัฐฯ กับกลุ่มกบฏฮูษี ที่เกิดขึ้นหลังถล่มกันมานานกว่า 7 สัปดาห์ ซึ่งรัฐบาลทรัมป์บอกว่าโจมตีเป้าหมายได้กว่า 100 แห่งในเยเมน รวมทั้งการโจมตีศูนย์กักกันผู้อพยพชาวแอฟริกันในเมืองซาดาที่มีผู้เสียชีวิต 68 ราย และการจู่โจมท่าเรือราสอิซาที่มีคนเสียชีวิต 80 ราย 


เมื่อความขัดแย้งปะทุขึ้น ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจโลกจะไม่เต็มใจหรือไม่สามารถยับยั้งความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดูเหมือนทรัมป์จะมองว่าการปะทะกันทางทหารระหว่างอินเดียกับปากีสถานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทรัมป์บอกว่า “พวกเขาสู้รบกันมานานแล้ว” 


ปากีสถานที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ในการ “ทำสงครามกับกลุ่มก่อการร้าย” ถูกวอชิงตันทิ้งหลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวจากอัฟกานิสถาน ส่วนอินเดีย ปูรีเผยว่า อินเดียอาจเชื่อว่า “การวิพากษ์วิจารณ์จากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นก็ไม่ได้จริงจังมาก” คือไฟเขียวให้อินเดียก้าวร้าวมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น 


วันที่ 9 พฤษภาคมนี้คือวันที่ยุโรปเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ดี 80 ปีต่อมา บรรทัดฐานในการปฏิบัติตัวของรัฐกลับล้มเหลว ไม่เพียงแต่สงครามจะไม่ถือเป็นเรื่องต้องห้ามอีกต่อไป แต่ยังอาจกล่าวได้ว่ายุคใหม่ของความขัดแย้งระดับโลกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว 

Photo by MOD / MOD / AFP 

 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์