เหตุการณ์ ‘เพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษา’ โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี มองอีกมุมอาจเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้อย่างสามัญ แต่ขณะเดียวกันก็มาจากความประมาทเลินเล่อของหลายภาคส่วน จนเกิด ‘โศกนาฏกรรม’ ที่สร้างความโศกเศร้าให้กับสังคม
กฎหมายความปลอดภัย (ที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคม ) ของ ‘เยาวชน’ กลายเป็นประเด็นต้องมาตกตะกอน - สังคายนาให้เกิดมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันการสูญเสีย ‘ครู - นักเรียน’ จากเหตุข้างต้นทำให้ผู้คนเสียงแตก เรื่องการจัด ‘ทัศนศึกษา’ ว่ายังคงดำรงอยู่ไว้ หรือระงับไปเพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน
ไม่แปลกที่ผู้ปกครองจะเป็นห่วง เพราะตามสถิติที่องค์การอนามัยโลก ออกมาเปิดถึงข้อมูลผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในไทยมีอยู่ประมาณ 20,000 คนต่อปี (เฉลี่ยวันละกว่า 50 ราย) ขณะที่ กรมควบคุมโรคมีการเปิดเผยข้อมูลเรื่อง เด็กและเยาวชนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนน ยกระดับปัญหาการตายจากอุบัติเหตุทางถนนของเด็กและเยาวชน เป็น ‘วาระเร่งด่วน’ พบมีการคาดการณ์ว่า ‘ถ้ายังแก้ปัญหาแบบเดิม และไม่มีเป้าหมายชัดเจน’ ในอีก 11 ปีข้างหน้า (2563-2573) จะมีเด็กและเยาวชนเสียชีวิต ถึง 40,421 คน หรือเฉลี่ยปีละ 3,675 คนต่อปี ดังนั้นการเดินทางไกลๆ บนท้องถนนจึงกลายเป็นเรื่องกังวลกับทุกฝ่าย
กระนั้น ในมิติด้านการศึกษา การเดินทางเพื่อพบเห็นประสบการณ์ใหม่ๆ หรือการได้มาเยือนสถานที่ที่ไม่เคยไป สักครั้งหรือสองครั้งในรอบปี ถือเป็นความปรารถนาชิ้นใหญ่ของเด็กๆ โดยเฉพาะกับเด็กที่ทางบ้านไม่ได้มีกำลังมากพอ ต่อการพาลูกๆ เจอโลกกว้าง การถอดบทเรียนในครั้งนี้จึงต้องใช้ความละเอียดอ่อน ที่จะต้องใช้การจะตัดสินใจอย่างเป็นธรรม
จาก ‘โศกนาฏกรรม’ สู่การทบทวนเรื่องการกระจายอำนาจาจ ‘ด้านการศึกษา’
“หากในมื้อเที่ยง มีอยู่วันหนึ่งเด็กท้องเสีย เราจะยกเลิกอาหารกลางวันหรือไม่ หรือแม้แต่เด็กต่างจังหวัดมีภาวะการเดินทางไปโรงเรียนยากลำบาก เราจะปิดโรงเรียนเลยหรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือมาตรการระยะยาวเรื่องความปลอดภัย และให้ความเชื่อมั่นพ่อแม่ เพราะการเรียนรู้นอกห้องเรียนคือสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก”
มุมมองของ ‘ธนวรรธน์ สุวรรณปาล’ ผู้ร่วมก่อตั้งแฟนเพจ 'ครูขอสอน' ที่กล่าวถึงกระแส ‘ยกเลิกทัศนศึกษา’ โดยส่วนตัวนอกจากการขับเคลื่อนประเด็นการศึกษาเชิงโครงสร้าง ‘ครูทิว’ เป็นอาจารย์สอนอยู่ในโรงเรียนมันธยมศึกษาแห่งหนึ่ง มีบทบาทสำคัญกับการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ที่ต้องข้องเกี่ยวกับกิจกรรมนอกชั้นเรียนอยู่เสมอ
ด้วยความใกล้ชิดกับนักเรียน และเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้นอกชั้น ธนวรรธน์ จึงคิดว่า หากการยกเลิกทัศนศึกษาเกิดขึ้นจริง อาจส่งผลกระทบต่อนักเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม เสมือนเป็นการตัดโอกาสด้านการศึกษานอกตำรา โดยเฉพาะกับเด็กที่อยู่ใน ‘ครอบครัวที่ขาดแคลนโอกาส’ ไม่สามารถพาลูกไปเที่ยว หรือแสวงหาประสบการณ์อื่นๆ ให้ได้นอกจากบทเรียนทางวิชาการในห้อง ซึ่งแตกต่างกับสถานภาพครอบครัว ‘ชนชั้นกลาง - ชนชั้นนำ’ ที่มีกำลังทรัพย์ในการเพิ่มพูลสิ่งต่างๆ ให้ลูกหลานได้อย่างครบถ้วน
ส่วนตัวเข้าใจว่าเมื่อเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ผู้ปกครองจำนวนมากย่อมแสดงความกังวลต่อความปลอดภัยของนักเรียน แต่การแก้ปัญหาด้วยการยกเลิก อาจเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เสมือนเป็นการยกเลิก ‘สิ่งจำเป็น’ ที่เยาวชนช่วงวัยระหว่างการศึกษาพึงได้รับ ดังนั้นสิ่งที่จะต้องแก้ไขเป็นอันดับแรกคือการเข้มงวดต่อความปลอดภัยของเด็ก
อีกมุม สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับครูและนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม มาจากโครงสร้างเชิงระบบ มีความเกี่ยวเนื่องกับ ‘การกระจายอำนาจ’ หรือ ‘การกระจายความเจริญ’ จากเมืองหลวงสู่ต่างจังหวัด เพราะหากท้องถิ่นมีอำนาจ และความเจริญที่ทัดเทียม มีแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพในทุกๆ ด้าน นักเรียนก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มความเสี่ยง เดินทางไกลร่วมกว่า 300 กิโลเมตร เพื่อเข้ากรุงเทพฯ
กฎหมายและมาตรการด้านความปลอดภัยต้องชัดเจน
ในส่วนที่สังคมตั้งถามเรื่องข้อกำหนดต่างๆ ด้านความปลอดภัยของเด็กๆ ต่อการไปทัศนศึกษา ครูทิวยอมรับว่า แม้ประเทศไทยจะมีมาตรฐานที่ถูกกำหนดเป็นกฎหมายหลายฉบับ ไม่ว่าจะพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ หรือในระเบียบของกระทรวง (ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ - คมนาคม) แต่สำหรับเรื่องระยะทาง - ระยะเวลาในการเดินทางในหนึ่งวัน (เพื่อไปทำกิจกรรม) ยังเป็นคำอธิบายแบบกว้างๆ ขณะที่ต่างประเทศระบุออกมาเป็นหลักปฏิบัติอย่างชัดเจน ส่งผลให้สถิติการสูญเสียมีน้อยหรือไม่มีเลย
สำหรับข้อกำหนดอัตราส่วนการดูแลสวัสดิภาพนักเรียน มีระบุไว้ในกฎหมายว่า เด็กโต (ประถมวัย - มัธยมศึกษา) 20 คน ต่อคุณครู 1 คน ส่วนเด็กเล็ก (อนุบาล) 8 คน ต้องมีคุณครูดูแล 1 คน ขณะที่ต่างประเทศ (เท่าที่ทราบข้อมูลธนวรรธน์) พบว่า เด็กเล็กจำนวน 4 - 6 คน ต้องมีการดูแลของครู 1 คน และครูจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมทบทวนด้านความปลอดภัยในทุกๆ ปี หรือก่อนจะมีการจัดกิจกรรมนอกโรงเรียนด้วย เพื่อลดความเสี่ยงเพิ่มความมั่นใจให้กับนักเรียน
ชำแหละงบประมาณ ‘ทัศนศึกษา’ ความไม่พร้อมที่รัฐอาจต้องทบทวน
ทัศนศึกษา คือสิ่งจำเป็นสำหรับผู้เรียน เป็นได้ทั้งกิจกรรมในหลักสูตร - นอกหลักสูตร ที่จะเสริมสร้าง ‘ประสบการณ์’ ให้นักเรียน หมายความว่าการวางเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียน ทั้งใน-นอกห้องเรียน ไม่เพียงพอต่อการสร้างทักษะดังกล่าว แต่เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ทุกหน่วยงานจำเป็นต้องร่วมถอดบทเรียน ในหลายๆ มิติ ซึ่งสิ่งจำเป็นเร่งด่วน (ด้านการศึกษา) ตามทรรศนะของธนวรรธน์ คือ
- การคำนึงถึงช่วงวัยของผู้เรียน เพราะไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็ก (อนุบาล - ประถมศึกษาตอนต้น) ที่มีความจำเป็นต่อการหาประสบการณ์เพื่อการเติมโต แต่ต้องถูกจัดสรรอย่างเหมาะสม และอำนวยให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด
- การคำนึงถึงการเสริมสร้างหลักสูตรและเสริมสร้างโอกาส อย่างการเรียนการสอนในห้อง ต้องหมั่นตรวจสอบว่าเด็กขาดประสบการณ์ - ทักษะเรื่องไหนอยู่ ที่จำเป็นต้องเดินทางไปแหล่งเรียนรู้จริงๆ รวมถึงการดูพื้นฐานของนักเรียนในมิติครอบครัวด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่าวทั่วถึงโดยเฉพาะกับเด็กชายขอบ
ครูทิว ยอมรับว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้บุคลากรทางการศึกษาทุกคนเสียใจ และมีจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับการยกเลิกทัศนศึกษา ส่วนหนึ่งมีผลมาจาก ‘ครู’ เป็นผู้ที่ถูกคาดหวังจากผู้ปกครองในการดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของนักเรียน ภายใต้ข้อจำกัดที่เยอะจนเกิดแรงกดดัน แต่อีกแง่หนึ่งคือหน้าที่ของสถานศึกษา ที่จะต้องจัดทัศนศึกษาเพื่อพัฒนาเด็ก
“เอาเข้าจริงเราต้องทำเอกสารเยอะมาก อย่างทัศนศึกษาครั้งหนึ่ง เราต้องทำเอกสารกับบริษัทรถ มีแผนและมาตราต่างๆ ที่ต้องส่งเขตพื้นที่การศึกษา แต่มันก็มีปัจจัยทับซ้อนอื่นๆ ที่กลายเป็นอุปสรรคสร้างแรงกดดันให้กับสถานศึกษาในการว่างจ้างเอกชนอยู่ไม่น้อย”
ปัจจัยที่ครูทิวอธิบาย มีอยู่ด้วยกันหลายส่วน อาทิ เรื่องมาตรฐานรถโดยสารในตลาด มีตัวเลือกไม่มากสำหรับโรงเรียนในการว่าจ้าง รวมถึงงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้โรงเรียนอาจมีตัวเลือกน้อยในการตัดสินใจเพราะ การจัดทัศนศึกษา 1 ครั้ง ค่ารถสำหรับนักเรียนอาจมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการ
“เหตุที่เกิดขึ้นที่ปทุมฯ ทำให้เห็นว่าโรงเรียนขนาดเล็กต้องใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่ามากที่สุด ทัศนศึกษาครั้งนี้จึงมีตั้งแต่เด็กอนุบาล เด็กประถมฯ และเด็กมัธยมฯ การที่จะแยกไปทีละระดับชั้น ต้นทุนย่อมสูงกว่าการที่รวมเด็กทีละเยอะๆ พร้อมๆ กัน”
— ธนวรรธน์ กล่าว
ในมิติของงบประมาณต่อหัว (ต่อปี) ในการเดินทางไปทัศนศึกษาของเด็กนักเรียน ครูทิวเปิดเผยว่า ในหนึ่งปีเด็กอนุบาลจะได้รับเงินต่อหัว ประมาณอยู่ที่ 464 บาท ประถมศึกษา 518 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น 950 บาท มัธยมศึกษาตอนปลาย 1,026 บาท ซึ่งถามว่าเพียงพอหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับริบทของสถานศึกษาและจำนวนนักเรียน แต่สำหรับโรงเรียนที่ครูทิวรับราชการอยู่ งบประมาณจากรัฐส่วนนี้ คือค่าใช้จ่ายที่รวมกับการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอื่นๆ อาทิ กิจกรรมลูกเสือ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหลายโรงเรียนเวลาไปค่ายลูกเสือ 1 ครั้งต้องพานักเรียนแวะแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ด้วย เพราะ ‘ค่ารถ’ คือค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่ต้องใช้จากงบประมาณทั้งหมด
คนไทยต้องฝึกฝนให้ ‘เด็ก’ รับมือกับ ‘ความเสี่ยง’
เมื่อเหตุการณ์สร้างความเสียหายให้กับร่างกายและจิตใจของนักเรียนและครู รวมถึงผู้ปกครองที่เฝ้ารออยู่ทางบ้าน เรื่อง ‘ความพร้อมต่อการเผชิญเหตุ’ เป็นสิ่งสำคัญ พอๆ กับการสร้างมาตรฐานการเดินทางที่ปลอดภัย ในมุมมองของครูทิว คิดว่าสังคมไทยควรให้โอกาสเด็กได้เผชิญหน้ากับเหตุร้าย ผ่านการฝึกอบรมภายใต้บุคคลกรที่เชี่ยวชาญ ซึ่งจะเป็นประสบการณ์เอาตัวรอดที่ดีกว่าการสั่งสอนบนหน้ากระดาษ
“เราไม่ค่อยกล้าให้เด็กลงมือทำ และไม่กล้าให้เด็กเผชิญกับปัญหาจนเกินไป ทำให้เขาขาดแคลนทักษะ ถึงเวลาฉุกเฉินก็อาจไม่สามารถแก้ไขเฉพาะหน้าได้ หรือมีสภาพจิตใจที่แน่วแน่ต่อการตอบสนอง เพื่อเอาตัวรอดอย่างเหมาะสม อย่างเรื่องการอบรมแผนเผชิญเหตุหนีไฟ ที่อาจจะต้องปรับให้เข้มข้นและคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กแต่ละช่วงวัยด้วย อย่างกรณีหากเป็นเด็กอนุบาล จะสามารถทำอย่างไรได้บ้างกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้มันเป็นสิ่งที่เราต้องตระหนักมากกว่าความตระหนก”
— ธนวรรธน์ กล่าวทิ้งท้าย
สุดท้ายนี้ ขอให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนและครูบนรถบัส กลายเป็นอุทาหรณ์ให้กับสังคม โดยเฉพาะภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหา และออกแบบแนวทางป้องกันระยะยาวที่มีคุณภาพ
หากทำแบบ ‘วัวหายล้อมคอก’ เฉกเช่นที่ผ่านมา ประเทศไทยคงหนีไม่พ้นข้อครหา ว่าใช้คำว่า ‘ถอดบทเรียน’ อย่างสิ้นเปลืองที่สุด
ขอทุกดวงวิญญาณสู่สัมปรายภพที่สุขสงบ...