กรณีการทำคำของบประมาณเพื่อปรับปรุงอาคารและสถานที่รัฐสภา กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความจำเป็นหรือไม่? โดยเฉพาะเป็นเด็นที่มีการของบฯ ที่มีจำนวนสูง
เรื่องนี้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่า ความจริงไม่ได้เป็นการต่อเติมแต่อย่างใด เพราะอาคารรัฐสภาสร้างเสร็จและมีการตรวจรับแล้ว แต่สิ่งที่เป็นข่าวเท่าที่ผมติดตาม เป็นการเพิ่มเติมสิ่งที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์ เช่น ห้องประชุมชั้น B2 ที่สร้างเสร็จแล้วจุได้ 1,500 คน แต่ไม่มีโต๊ะเก้าอี้ ไม่มีเวทีการประชุม ไม่มีจอ ไม่มีเครื่องเสียง รวมถึงไฟไม่สว่าง
ทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนผู้บริหารสภาฯ เห็นว่าควรจะทำให้สมบูรณ์เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่ ก่อนหน้านี้เราทำงานมา 5-6 ปี ไม่มีใครกล้าไปทำ เพราะยังไม่มีการส่งมอบการก่อสร้างอาคารฯ เกรงว่าจะเป็นปัญหา นอกจากนี้ ยังมีห้องประชุมชั้น B1 ที่เป็นในลักษณะเดียวกันอีกด้วย ก็ต้องทำให้สมบูรณ์ รวมถึงศาลาแก้วที่ไม่สามารถใช้งานได้ ก็อยากจะเติมให้สมบูรณ์
ขณะที่ขั้นตอนการของบประมาณ ขณะนี้เป็นการเสนอไปยังสำนักงบประมาณ และสำนักงบฯ ต้องตัดตอนไปอีกหลายอย่าง บางอย่างอาจจะไม่ได้เลยก็ได้ บางอย่างจำเป็นแต่ราคาไม่ตรงกับมาตรฐานราคา หากสำนักงบฯ เห็นว่าราคาไม่ตรงตามมาตรฐานราคา ก็ต้องตัดออก เมื่อผ่านสำนักงบฯ รัฐบาลก็จะส่งมาให้ กมธ.งบประมาณของสภาฯ พิจารณา ก็จะมีการตัดอีกรอบ
ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในการตรวจสอบงบประมาณของสภาฯ ให้มีความโปร่งใสมากที่สุด เพราะเราเป็นหน่วยงานของนิติบัญญัติ การที่ สส. ทุกคน ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ได้ช่วยกันตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส เป็นเรื่องที่ดี หากในขั้นตอนการใช้งบฯ เมื่อได้รับงบฯ มาแล้ว การประมูล การประกวดราคาไม่โปร่งใส ก็อยากให้ สส. ตรวจสอบ รวมถึงใช้แล้วได้ประโยชน์อย่างไร
ทางเลขาธิการสภาฯ แจ้งมายังผมแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนคำของบประมาณ บางอย่างก็ไม่ได้ เช่น ที่จอดรถไม่ได้ทั้งหมด เพราะยังจำเป็นน้อย บางอย่างที่จำเป็น ก็ให้เป็นบางส่วน ผมเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ กมธ.งบประมาณฯ คงจะมีการตัดลดงบฯ อีก หาก สส.ฝ่ายค้านยังติดใจ สามารถสงวนคำแปรญัตติในชั้น กมธ. เพื่อมาอภิปรายตัดลดงบฯ ในสภาฯ ได้อีกรอบ สำหรับสภาฯ ไม่มีปัญหา อยากให้ทุกฝ่ายได้ตรวจสอบให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่ ผมอยากเรียนว่าสภาฯ เป็นสถาบันของชาติ อยากให้เห็นว่าทำอะไรด้วยความโปร่งใส ถูกต้อง สมบูรณ์ มีศักดิ์ศรี เมื่อประชาชนเข้ามาจะได้เห็นว่าสภาฯ เป็นสถาบันที่สง่างาม มีศักดิ์ศรี เป็นเกียรติเป็นศรีต่อผู้ที่มาใช้ ไม่ใช่แค่ สส. แต่ประชาชน นักเรียน นักศึกษาเข้ามาใช้ได้ รวมถึงผู้นำ ทูตต่างประเทศที่เข้ามาเยี่ยมชมสภาฯ เราจึงอยากให้ทำอะไรให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ใช่ทำอะไรแค่พอเสร็จ ต้องทำให้เกิดความภาคภูมิใจในสถาบันนิติบัญญัติของชาติ
— วันมูหะมัดนอร์ มะทา
เมื่อถามว่าเป็นการของบฯ เผื่อตัดใช่หรือไม่? ประธานสภาฯ กล่าวว่า “คำขอทุกอย่างก็มีมาตรฐาน แต่สำนักงบฯ จะดูความจำเป็นของงบฯ ก่อนใหญ่ เขาไม่ได้ให้ทุกอย่าง แต่ให้ตามความจำเป็น ส่วนราคาจะถูกจะแพง ขึ้นอยู่กับระเบียบกฎหมายว่าด้วยราคากลางที่มีกำหนดอยู่ ซึ่งทางสภาฯ ได้ถามเลขาสภาฯ ว่าราคากลางต่าง ๆ มีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหรือไม่ ทางเลขาสภาฯ ก็บอกว่าได้ประชุมแล้ว สำนักนายกฯ ที่ดูแลการจัดซื้อ กรมบัญชีกลาง กรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมก็ต้องให้กรมศิลปากรมาช่วยกำหนดด้วย”
ขอย้ำว่าทุกอย่างต้องโปร่งใส เราเห็นด้วยที่ สส. หรือสื่อมวลชนจะตรวจสอบทุกอย่างของสภาฯ เพราะเราตรวจสอบคนอื่น ตัวเราก็ต้องได้รับการตรวจสอบให้โปร่งใสด้วย
— วันมูหะมัดนอร์ มะทา
เมื่อถามถึงกรณีศาลาแก้วที่มีการวิจารณ์ว่ายังไม่ได้ใช้งานแต่กลับของบฯ มาปรับปรุง วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า “ศาลาแก้วยังไม่ได้ใช้งาน ก็ยังไม่ทราบว่าตอนที่สร้าง สร้างไว้ทำไม เพราะดูอาคารรัฐสภากับศาลาแก้วไม่รู้ว่าสัมพันธ์กันอย่างไร ผมไม่ทราบ แต่เมื่อสร้างเสร็จและตรงนั้นก็เป็นลานสำหรับที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ส่วนศาลาแก้วอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ 2 ข้าง เมื่อมีพิธีต่าง ๆ อาจต้องใช้ศาลาแก้ว ฉะนั้น ที่มีงบฯ เข้าไปเป็นการปรับปรุงให้ใช้งานได้”
ทำแล้วไม่ได้ใช้งานกลายเป็นอนุสาวรีย์เปล่า ๆ อย่างนั้นก็ไม่ได้ประโยชน์ และสภาฯ ในยุคที่ผมและเลขาธิการสภาฯ เข้ามาบริหาร เราไม่ได้เป็นคนจัดสร้าง แต่เราจะเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ใช่ใช้ประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ของสภาฯ และรัฐสภา แต่จะใช้กับประชาชนด้วย
— วันมูหะมัดนอร์ มะทา
ส่วนเมื่อถามว่า เลขาธิการสภาฯ ระบุว่าก่อนที่จะทำคำของบฯ ครั้งนี้ได้ผ่านประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ แล้ว แสดงว่าประธานฯ ได้เห็นชอบแล้วใช่หรือไม่? วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า “ต้องผ่านตั้งแต่เจ้าหน้าที่ ผอ.สำนักต่าง ๆ จนกระทั่งผู้ที่ได้รับจากประธานคือรองประธานสภาฯ แต่ทั้งหมดเป็นไปตามระบบของการบริหาร ไม่ได้หมายความว่าคนใดคนหนึ่งจะมีสิทธิ์”
“และเมื่อผ่านงบฯ แล้ว ตอนที่จะจัดงบก็ต้องมีการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ประจำเท่านั้น ฝ่ายการเมืองที่เข้ามาไม่มีส่วนที่จะกำหนดได้”

‘ภราดร’ ยันใช้งบประมาณ ‘ปรับปรุงรัฐสภา’ คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์
ขณะที่ ภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ให้ความเห็นถึงข้อวิจารณ์กรณีสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ในการปรับปรุงพื้นที่ต่าง ๆ ของรัฐสภาหลายรายการ มูลค่าแตะพันล้านบาท ว่า ผมขอชี้แจงเฉพาะส่วนที่ผมรับผิดชอบ มีแค่ 3 โครงการ คือ โครงการปรับปรุงห้องสมุด โครงการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์รัฐสภา งบประมาณ 120 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงระบบเสียงห้องประชุมจำนวน 1,500 ที่นั่ง งบประมาณ 99 ล้านบาท
โดยยืนยันว่า ทุกการใช้งบประมาณจะคุ้มค่ากับเงินภาษีของพี่น้องประชาชน และจะกำกับดูแลทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง โดยในส่วนของพิพิธภัณฑ์รัฐสภา มีความตั้งใจที่จะทำให้เป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของอาคารรัฐสภา และให้ประชาชนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่ามีความจำเป็น เพราะขณะนี้มีพื้นที่ว่างไว้จัดทำแล้ว 5,000 - 6,000 ตารางเมตร
ส่วนที่ฝ่ายค้านนิยามว่าห้องพิพิธภัณฑ์เป็นเพียงสุสานที่อยู่ใต้อาคารรัฐสภานั้น ผมเห็นด้วย เพราะหลังจากรับมอบอาคารมาเมื่อกลางปี 2567 พื้นที่ดังกล่าวก็เป็นเพียงห้องเปล่าที่ไม่สามารถใช้งานได้ จึงสั่งการให้ฝ่ายที่รับผิดชอบเร่งออกแบบให้เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์มีชีวิต และประชาชนสามารถเข้าใช้งานได้จริง ส่วนตัวก็ไม่อยากเห็นสุสานใต้สภาฯ เช่นกัน ขณะที่ห้องประชุม 1,500 ที่นั่ง ที่ชั้น B2 มีความตั้งใจจะจัดทำเป็นห้องอบรมสัมมนาสำหรับกรรมาธิการทุกคณะของทั้ง 2 สภา ซึ่งเป็นแผนเดิมที่ต้องมีตั้งแต่ก่อสร้างรัฐสภาแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ จึงมีความจำเป็นต้องของบประมาณมาจัดทำให้แล้วเสร็จ ดีกว่าปล่อยให้เป็นห้องร้าง ใช้ประโยชน์ไม่ได้ และยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายของกรรมาธิการด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการจะต้องเสียเงินไปเช่าพื้นที่โรงแรมในการจัดอบรมสัมมนา ซึ่งงบประมาณที่จะใช้จัดทำก็ปรับลดลงมาเหลือ 99 ล้านบาทแล้ว จากเดิมสำนักประชาสัมพันธ์เสนอของบมาที่ 160 - 170 ล้านบาท
— ภราดร ปริศนานันทกุล
ภราดร กล่าวอีกว่า “ทุกโครงการที่ของบประมาณไปนั้น เป็นเพียงแค่ร่างงบประมาณปี 2569 เท่านั้น ยังไม่ได้เป็นที่สิ้นสุด ขอเมื่อเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 1 สิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งมีทั้ง สส. และบุคคลภายนอกเข้ามาทำหน้าที่พิจารณาลงลึกในรายละเอียด หากเห็นว่าในโครงการหนึ่งโครงการใดไม่คุ้มค่า ก็มีสิทธิ์ที่จะปรับลดงบประมาณในทุกโครงการ จึงขอเรียนให้ประชาชนสบายใจว่า การของบประมาณยังไม่เสร็จสิ้น”
เมื่อถามว่า เหตุใดอาคารรัฐสภาที่เพิ่งก่อสร้างได้เพียงประมาณ 5 ปี จึงต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการปรับปรุง หรือเป็นเพราะแบบที่ก่อสร้างมานั้นยังไม่แล้วเสร็จ แต่มีการส่งมอบงานกันแล้ว? รองประธานสภาฯ คนที่ 2 กล่าวว่า “เมื่อเราใช้งานมาสักระยะหนึ่ง ทางประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า ยังมีพื้นที่ที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้น และมีบางส่วนที่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ก็ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น ห้องประชุมสัมมนา 1,500 ที่นั่ง มีแผนแล้วแต่ยังไม่ได้ทำ เพียงแต่เตรียมสถานที่เอาไว้สำหรับดำเนินการในเฟส 2 และเฟส 3 ต่อไป”
‘ถูกวิจารณ์’ เป็นเรื่องธรรมดา-ดีที่ประชาชนตื่นรู้
ส่วนกระแสข่าวที่ออกไปทำให้รัฐสภาถูกวิพากษ์วิจารณ์? ภราดร ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า “เป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนตื่นรู้กับการใช้จ่ายเงินงบประมาณของทุกหน่วยงานราชการ ทำให้ทุกหน่วยงานต้องยิ่งตระหนักว่า งบประมาณทุกบาททุกสตางค์เป็นเงินภาษีของประชาชน”
เมื่อถามว่าตอนนี้ยังอยู่ในช่วงของการรับประกันการก่อสร้างอาคารรัฐสภา เหตุใดจึงไม่ให้ผู้รับเหมาปรับปรุงหรือซ่อมในส่วนที่พัง? ภราดร บอกว่า “งบประมาณที่ขอไปไม่ใช่งบซ่อมสร้าง แต่เป็นงบต่อเติม เพราะยังมีส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ และต้องทำในเฟส 2 - 3 โดยการก่อสร้างเป็นเพียงการเตรียมพื้นที่เอาไว้เพื่อที่จะรองรับการดำเนินการในอนาคต”

‘อลงกต’ หนุนตัดงบฯ ไม่จำเป็น ชี้เศรษฐกิจแย่มาก ต้องลดน้ำหนัก ‘ความสวยงาม-การใช้ประโยชน์’ ลงมา
ทางด้าน อลงกต วรกี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ของรัฐสภา โดยเฉพาะประเด็น ศาลาแก้ว
โดย อลงกต ถามกลับว่า “ศาลาแก้วมีตั้งแต่เมื่อไหร่ โครงสร้างที่มีกระจกมีตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมตอนนั้นไม่มีการตั้งคำถามในเรื่องนี้?”
พร้อมกล่าวว่า “วุฒิสภาไม่มีอำนาจเพิ่มงบประมาณแน่นอน ทำได้เพียงตัดทอนการใช้จ่ายงบประมาณ ถ้าดูแล้วไม่มีความจำเป็นก็คงจะตัดงบ แต่ตนตั้งคำถามว่า ถ้าตัดโครงสร้างนี้ไปแล้ว ศาลาจะใช้ได้หรือไม่ หรือจะไม่ใช้เลย ต้องถามสังคมว่า ควรจะเอาศาลานี้ทิ้งใช่หรือไม่ หรือจะให้หลังคานี้มีโครงสร้างทึบ เพื่อให้ไม่ร้อนและสามารถใช้งานได้ หากปรับเปลี่ยนให้สามารถใช้งานได้ ตนคิดว่าคงไม่ถึง 100 ล้านบาท”
ถ้าเป็นบ้านผม อาจจะเปลี่ยนแค่หลังคากระจกให้เป็นหลังคาทึบ หรือเป็นหลังคากระเบื้อง หรือเอาเมทัลชีทมาติด แต่มันจะน่าเกลียดหรือเปล่า สำหรับสัปปายะสภาสถาน
— อลงกต วรกี
อลงกต กล่าวต่อไปว่า “สังคมต้องการอะไร หรือจะให้ยุบไปเลย?” พร้อมกับถามสื่อมวลชนว่า “น้องต้องการแบบไหน?” และ “นิยามคำว่า “ปรับปรุง” คืออะไร? ผมตั้งข้อสังเกตว่า ถึงขั้นต้องยุบศาลา ถ้ารื้อไม่มีประโยชน์อะไร จะให้ไปทำอะไรต่อ ผมพูดให้สมประโยชน์ ถ้าในเชิงปฏิบัติ แค่เปลี่ยนหลังคาอาจจะไม่ถึงร้อยล้านบาท หรือ 1 ล้านบาทด้วยซ้ำไป หากรื้อออกไปยิ่งสิ้นเปลือง โครงสร้างเดิมมันรับกับกระจก จะมีการเปลี่ยนตัวโครงสร้างที่รองรับกระจกหรือไม่”
ส่วนกรณีสระมรกต ต้องถามว่าสมประโยชน์หรือไม่ในการใช้ประโยชน์ ถ้าไม่มีประโยชน์และไม่มีที่มาชัดเจน ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว แต่ สว. เราคงไม่มีหน้าที่ไปเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณ
— อลงกต วรกี
เมื่อถามว่า ยังมีโรงหนัง 4D แม้จะถูกชี้แจงแล้วว่าเป็นห้องสาระสนเทศ แต่คุ้มค่าหรือไม่? อลงกต กล่าวว่า “ผมยังไม่เห็นรายละเอียด จึงไม่สามารถตอบได้ แต่ผมมีคำถามว่า ตอนนี้เราสัมมนากันอย่างไร ขอถามน้องนักข่าวว่า ห้องใช้พอหรือไม่?”
ทั้งนี้ ในระหว่างนั้นมี สว. ที่อยู่ข้างหลัง อลงกต กระซิบว่า “ไม่พอ”
อลงกต กล่าวต่อไปว่า “ผมไม่สามารถตอบได้ ต้องถามว่า เวลาสัมมนาไปใช้สถานที่ข้างนอกในโรงแรม หรือที่สภาเหมาะสมกว่า สำนักงานเลขารัฐสภา ทั้งฝั่ง สส. และฝั่ง สว. ต้องตอบคำถามในเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับหน่วยงานข้างล่างเสนอขึ้นมา สว. ไม่มีหน้าที่พิจารณา ทำได้เพียงตัดเท่านั้น”
เมื่อถามย้ำว่า ในเอกสารของงบประมาณเขียนชัดว่าเป็น 4D? อลงกต ก็ย้อนถามว่า “สภายังมีที่ว่างอีกเยอะหรือไม่? ผมยังเดินไม่ทั่วเลย”
เมื่อถามว่ามีคนตั้งคำถามว่า สภาใช้งานมา 5 ปีแล้ว มาขอปรับปรุง ยังไม่คุ้มค่าใช่หรือไม่? อลงกต กล่าวว่า “เมื่อก่อนยังไม่เป็น สว. ผมผ่านสภาฯ คิดว่าเป็นวัด ยกมือไหว้ตลอด แต่คำถามคือ รัฐสภาเป็นที่เชิดหน้าชูตาของสังคมหรือไม่ ต้องให้น้ำหนักกันระหว่าง 2 เรื่อง คือ ความสวยงาม เชิดหน้าชูตา กับการใช้ประโยชน์ ต้องให้สังคมพิจารณาเอาเอง บางทีสวยงามแต่บางส่วนไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น สระมรกต มันขึ้นอยู่กับที่ข้างล่างพิจารณา”
ตอนนี้เศรษฐกิจแย่มาก พวกคุณรับสภาพกันอยู่ใช่หรือไม่ ผมเห็นด้วยกับหลักการของหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านฯ ที่ควรจะตัดงบประมาณบางอย่างที่ไม่จำเป็นออกไป ความเห็นของผมส่วนตัว ปีนี้ไม่ใช้ได้หรือไม่ ค่อยใช้ปีหน้า เศรษฐกิจดีแล้วค่อยว่ากัน เพราะตอนนี้เรียนตามตรงว่าเศรษฐกิจแย่มาก เพื่อนของผมบางคน 4-5 เดือน ยังไม่ได้รับเงินเดือนก็มีแล้ว ไม่จ่ายเงินให้พนักงานก็มี จึงเห็นด้วยกับหัวหน้าฝ่ายค้านฯ
— อลงกต วรกี