‘กมธ.พัฒนาการเมืองฯ’ ซัดเดือด ‘รีโนเวทสภา’ เชื่อม ‘ศาลาแก้ว-ที่ประชุม’ เพื่อไร

8 พ.ค. 2568 - 09:59

  • ‘กมธ.พัฒนาการเมืองฯ’ รุมซักเดือด! งบรีโนเวทสภาฯเพิ่มเติม ด้าน ‘ผอ.อาคารสถานที่ฯ’ อ้างข้อบัญญัติ กทม.ต้องมีที่จอดรถสูงถึง 3 พันคัน ขาดอีกพันห้า

  • ขณะที่ ‘หมออ๋อง’ โผล่ข้องใจสร้างที่จอดรถเพิ่มดำริของประธานสภาฯ หรือนโยบายใครดึง ยกต่างชาติมองสภาฯ ฟุ่มเฟือย

  • ส่วน ‘ขรก.สำนักรักษาความปลอดภัย’ ชี้เป็นเรื่องสำคัญต้องเร่งแก้ไข ลั่นทุ่ม4.5 พันลบ.คุ้มค่า

  • ‘พริษฐ์’ ข้องใจความเชื่อมโยงศาลาแก้ว-ห้องประชุม มีประสิทธิภาพอย่างไร

การประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ' สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน(ปชน.) ในฐานะประธานกมธ.ฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาศึกษาผลการดำเนินการ และการบริหารจัดการงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยเชิญผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงเชิญ ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เข้าให้ข้อมูล  

พริษฐ์ กล่าวก่อนเข้าสู่วาระการประชุมว่า ได้หารือกับกมธ.ถึงรายละเอียดของทั้ง 15 โครงการที่มีการส่งคำร้องของบประมาณในการปรับปรุงอาคารรัฐสภา และไฮไลต์ออกมาทั้งหมด 5 โครงการหลักที่จะมีการพิจารณาในวันนี้คือ  

  • 1.อาคารที่จอดรถเพิ่มเติมมูลค่า 4,600 ล้านบาท โดยมีการทำคำขอในงบประมาณปี 69 ไปจำนวน 1,500 ล้านบาท  
  • 2.โครงการระบบภาพยนตร์ 4 ดี อยู่ในตัวร่างพ.ร.บ.งบฯ 69 อยู่ที่ 180 ล้านบาท  
  • 3.โครงการปรับปรุงศาลาแก้ว จำนวน 22 ล้านบาทอยู่ในตัวร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ เช่นเดียวกัน  
  • 4.การปรับปรุงห้องประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) งบประมาณฯ มูลค่า 118 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในตัวร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ  
  • 5.การตกแต่งฉากหลังบัลลังก์ประธานสภาฯ มูลค่า 133 ล้านบาท โดยยังไม่ได้ถูกอนุมัติในปีนี้  

เบื้องต้น อยากให้ชี้แจงภาพรวมก่อนว่า สรุปแล้วในการก่อสร้างอาคารรัฐสภามีทั้งหมดกี่บาท หากอ้างอิงเอกสารงบประมาณปี 68 จะมีการพูดถึงวงเงินทั้งหมด 1.3 หมื่นล้านบาท ค่าควบคุมการก่อสร้างอีกประมาณ 400 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการตั้งงบประมาณเพิ่มเติมอีก 293 ล้านบาท อยากทราบว่าสถานะของการตรวจรับอาคารรัฐสภาตอนนี้เป็นอย่างไร ตรวจรับทั้งหมดแล้วใช่หรือไม่ มีการจ่ายเงินทุกงวดแล้วใช่หรือไม่ และช่วยยืนยันได้หรือไม่ว่าทั้ง 15 โครงการที่มีการของบประมาณนั้นไม่มีโครงการใดอยู่ในแบบแผนดั้งเดิมที่มีก่อนหน้านี้ใช่หรือไม่ เพราะหากอยู่ตนคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นสิ่งที่ควรถูกรวมอยู่ในงบประมาณก่อสร้างอยู่แล้ว 

 


ถาม - ตอบ ปม ‘ที่จอดรถรัฐสภาไม่เพียงพอ’ 

จากนั้นได้เปิดให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องชี้แจงรายละเอียด โดย ‘ปกาสิต จำเรือง’ ผู้อำนวยการสำนักงานอาคารสถานที่ของรัฐสภา ชี้แจงว่า  

“งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างสภาเป็นตามที่นายพริษฐ์ได้ข้อมูลมา ตรงเป๊ะเลยครับ ตามนั้น ส่วนงบประมาณที่มีการขอเพิ่มเติมมานั้นไม่มีส่วนใดที่คาบเกี่ยวกับงบประมาณข้างต้นเลย สำหรับงบประมาณ 200 กว่าล้านบาทนั้น ผมต้องให้ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานบริหารจัดการและบริหารสถานที่ เป็นผู้ชี้แจง เนื่องจากผมมารับตำแหน่งหลังจากมีการอนุมัติงบประมาณต่างๆ ไปหมดแล้ว”

ด้าน ‘พฤหัส ปราบปรี’ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานบริหารจัดการและบริหารสถานที่ ชี้แจงว่า ในส่วนของในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาหลังมีการตรวจรับงานงวดสุดท้ายแล้วนั้น ขณะนี้ยังเหลืออยู่หนึ่งงวดที่เรายังไม่ได้จ่ายผู้รับจ้าง 300 กว่าล้านบาท เพราะมีประเด็นในเรื่องค่าเสียหายต่างๆ ที่ต้องเรียกจากผู้รับจ้างบางส่วน ตอนนี้อยู่ที่สำนักงานการคลังและงบประมาณ และอยู่ในการดำเนินการและอาจจะเป็นคดีความซึ่งตนไม่ได้อยู่ฝ่ายสำนักกฏหมายแล้ว จึงไม่ทราบในรายละเอียดในส่วนนี้  

ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวเป็นงบผูกพันตั้งแต่ก่อสร้างโครงการอาคารรัฐสภาเดิม โดยงบประมาณที่จะสร้างที่จอดรถเป็นงบประมาณที่เพิ่มจากของเดิมโครงการศาลาแก้วก็ปรับปรุงจากของเดิมจากที่ออกแบบไว้ เช่นเดียวกับที่มีการปรับปรุงห้องประชุมกมธ.งบประมาณฯ ในการปรับปรุงพื้นหลังบัลลังก์ประธานสภาฯ นั้นไม่ได้มี ถูกตัดออก  

พริษฐ์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอนั้น ไม่เพียงพอจริงหรือไม่ หากไม่เพียงพอจริงใครรับผิดชอบเพราะตอนตามแบบแปลนเดิมนั้นหากอาคารจะมีขนาดเช่นนี้ ที่จอดรถต้องมีเท่าไหร่อย่างไร เหตุใดเมื่อเปิดทำการมาแล้วไม่ถึง 5 ปีจึงต้องมีการสร้างที่จอดรถเพิ่มเติม พร้อมยอมรับว่าเราได้ยินเสียงสะท้อนจากประชาชนที่มาติดต่อธุระ หรือหน่วยงานที่มาชี้แจงว่าหาที่จจอดรถยาก แต่เรามีการบริหารจัดการสถานที่จอดรถที่มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่  

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่จอดรถในอาคารรัฐสภา ซึ่งอยากทราบว่าตั้งขึ้นมาเมื่อไหร่ มีรายงานการศึกษาหรือไม่ มีใครอยู่บ้าง หากที่จอดรถปัจจุบันไม่เพียงพอจริงๆ ต้องสร้างเพิ่มอีกกี่ที่ และเรามีการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ เพราะปัจจุบันเรามีที่จอดรถอยู่ 1,935 ช่อง แต่ในวันที่มีการประชุมอาจจะมีคนมาใช้ที่จอดรถไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคนต่อวัน แต่คนในจำนวน 1 หมื่นคนที่มาทำธุระที่อาคารรัฐสภานั้นอาจจะไม่มีรถทั้งหมด  

อย่างไรก็ตาม ในวันที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการล็อกที่จอดรถไว้สำหรับสส. 500 คน ซึ่งเข้าใจว่าเพื่อให้สส.สามารถหาที่จอดรถได้ง่าย แต่ทั้งนี้ สส.ในจำนวนนี้อาจจะไม่ได้ใช้รถส่วนตัวทั้งหมด จึงอยากทราบว่าในการเรียกร้องให้มีสถานที่จอดรถเพิ่มเติมมีนัยยะสำคัญหรือไม่ และในปัจจุบันเราไม่ได้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ดีในด้านดีมานและซัพพายในส่วนนี้ จะต้องมีการทบทวนหรือไม่ 

ด้าน ‘อรุณ ลายผ่องแผ้ว’ ผู้อำนวยการสำนักรักษาความปลอดภัย ชี้แจงว่า ตอนที่มีการเสนอตั้งโครงการอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักรักษาความปลอดภัย ต่อมาอยู่ในการของบประมาณในปี 69 ได้มีการตั้งกลุ่มงานอาคารและสถานที่รัฐสภา ขึ้นมา แต่เราอยากให้ถูกฝาถูกตัวจึงให้กลุ่มงานอาคารและสถานที่รัฐสภาดูแลต่อ ทั้งนี้ เรามีคณะกรรมการแก้ไขที่จอดรถไม่เพียงพอขึ้นมาและมีการจัดตั้งอนุฯ ขึ้นมา 3 อนุเพื่อศึกษาดูว่าเราจะจัดการปัญหาต่างๆอย่างไร เพราะพื้นที่ของเราเป็นอาคารขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยอยู่ที่ 4.2 แสนกว่าตารางกิโลเมตร  

ฉะนั้น ตามข้อบัญญัติของกทม.กำหนดไว้ว่า 120 ตารางเมตรต้องมีที่จอดรถ 1 คัน เราจึงต้องมีที่จอดรถอย่างน้อยที่สุด 3,500 คันแต่ในแบบที่มีอยู่นั้นเรามีไม่เพียงพอ โดยชั้น B1 เรามีที่จอดรถอยู่ประมาณ 700 คัน และชั้น B2 มีอยู่ประมาณ 1,400 คัน รวมแล้วประมาณ 2,100 คันแต่เราไม่สามารถที่จะจอดได้ทุกช่อง  เพราะบางช่องไม่สามารถจอดได้ จึงทำให้เหลือแค่ประมาณ 2,000 ช่อง จึงขาดอยู่อีกประมาณ 1,500 คัน  

อรุณ กล่าวต่อว่า จะพยายามแก้ปัญหาโดยการหาพื้นที่ใกล้เคียงมาใช้เป็นสถานที่จอดรถชั่วคราว แต่ความเป็นไปได้นั้นเป็นไปได้ด้วยยาก จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา และพบว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะใช้พื้นที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภาที่มีอยู่ประมาณ 21 ไร่ เจาะลงไปด้านล่าง ซึ่งได้มีการคาดการณ์ไว้ว่ารถที่จะเข้ามาเฉพาะฝั่ง สส.รวมที่ปรึกษาและผู้ติดตามด้วยจะอยู่ประมาณ 3,000 กว่าคัน ขณะที่ฝั่ง สว.เมื่อรวมกับผู้ติดตามและที่ปรึกษาด้วยจะอยู่ที่ประมาณ 1,100 คัน หากจะบริหารจัดการให้เพียงพอครั้งเดียวเราต้องใช้พื้นที่ให้เต็มประสิทธิภาพคือทำที่จอดลึกลงไปคร่าวๆ 11 เมตร ซึ่งจะทำให้มีที่จอดรถเพิ่มขึ้น 4,600 คัน ส่วนบริหารจัดการอย่างไรนั้น จากเดิมแม้จะไม่ได้ล็อกช่องจอดให้สมาชิกเราก็ล็อกพื้นที่อยู่แล้วคือในวันจันทร์และวันอังคารจะกันพื้นที่ให้ฝั่งสว.  

ขณะที่วันพุธและวันพฤหัสบดีจะกันพื้นที่ให้ สส. อย่างไรก็จะต้องเสียพื้นที่ แต่เมื่อมีการล็อกพื้นที่ไว้เลยนั้น การบริหารจึงไม่สามารถที่จะขยับไปมาได้ ซึ่งเมื่อมีการล็อกพื้นที่แล้วจะเสียพื้นที่ไปประมาณ 535 คันเป็นพื้นที่ตกตรงกลางเพื่ออำนวยความสะดวกให้สมาชิกขึ้นลง 

พริษฐ์ ถามว่า หากอ้างตามข้อบัญญัติกทม.ปี 2544 ที่กำหนดให้มีที่จอดจำนวนเท่านั้นในตารางเมตรเท่านี้นั้นท่านอนุมัติอาคารที่จอดรถตามแปลนเดิมที่มีที่จอดรถอยู่เพียงแค่ 1,900 คันได้อย่างไร อรุณ กล่าวว่า ตอนที่มีการออกแบบและก่อสร้างนั้น ส่วนตัวไม่ได้รับผิดชอบ แต่เมื่อมาได้เข้ามาบริหารแล้วก็พยายามบริหารให้ถูกกฎหมาย 

พริษฐ์ กล่าวว่า เข้าใจว่าอรุณไม่ได้รับผิดชอบตอนนั้น แต่อรุณอยู่ในตำแหน่งตอนนี้ก็เป็นความรับผิดชอบของท่าน แต่ในเมื่อแบบแปลนในขณะนั้นผิดกฎหมายมันสมเหตุสมผลหรือไม่ ที่ประชาชนต้องควักเงินภาษีมาก่อสร้างอาคารที่จอดรถเพิ่มเติม ขอถามตรงๆ เพราะยังไม่เห็นสัญญา และหากแบบแปลนผิดกฎหมายนั้นในสัญญาระบุไว้ว่าใครต้องรับผิดชอบ คนออกแบบแผนหรือคนอนุมัติแผน 

‘ปกาสิต จำเรือง’ ผู้อำนวยการสำนักอาคารสถานที่อาคารรัฐสภา ชี้แจงว่า เรื่องแบบนั้นจ้างออกแบบก่อนแล้วค่อยจ้างก่อสร้าง ช่วงนั้นเป็นคณะกรรมการในช่วงผู้บริหารนั้น พวกตนมาบริหารภายหลัง ฉะนั้น จึงจะไม่ทราบว่าเขารับแบบมาถูกหรือไม่ ซึ่งการก่อสร้างนั้นคงเป็นไปตามแบบ เพราะมีกรรมการตรวจรับอยู่แล้ว แต่ที่พวกนิ่งเพราะไม่ทราบเรื่องที่พริษฐ์ถาม 

พริษฐ์ กล่าวว่า แบบที่ทำมาดั้งเดิมนั้นผิดกฎหมาย และไม่คิดว่าคนที่ต้องรับผิดชอบนั้นคือประชาชนที่ต้องควักเงินมาจ่ายค่าที่จอดรถ ฉะนั้น จึงอยากให้พวกท่านช่วยส่งเอกสารมาให้กมธ.ฯ แล้วพวกจะไปค้นต่อว่าใครต้องรับผิดชอบ และที่นายอรุณบอกว่าที่จอดรถชั้น B1 มี 700 ที่ ส่วนชั้น B2 มี 1,400 ที่นั้น และมีบางช่องที่ไม่พอดีนั้นคืออย่างไร อรุณ ชี้แจงว่า หมายความว่าบางช่องที่ตีเป็นที่เทิร์นรถ แต่กลับมีการไปตีหมายเลขจึงไม่เป๊ะ บางช่องก็ไม่อยู่ในที่ที่สามารถจอดได้ เช่น เมื่อคันหน้าจอดแล้วคันหลังจะไม่สามารถจอดได้ ซึ่งเราไม่สามารถดูแบบได้ต้องไปเดินดู  

พริษฐ์ กล่าวว่า เราต้องออกแบบมาเพื่อให้สะท้อนกับความเป็นจริง แต่หากออกแบบมาแล้วต้องไปเดินดูอีกครั้งก็สะท้อนว่าแบบนั้นมีปัญหา ทั้งนี้ หากจะสรุปคือแบบที่ออกแบบมานั้นผิดกฎหมายเพราะดั้งเดิมควรมีที่จอดรถประมาณ 3,500 คันเป็นขั้นต่ำ แต่กลับมีที่จอดรถเพียงแค่ 1,900 คันเท่านั้น ซึ่งเมื่อท่านบอกที่จอดรถไม่เพียงพอนั้น ท่านมองว่าควรมีที่จอดรถทั้งหมดกี่คัน ท่านบอกว่าหากดูจากทีโออาร์ต้องเติมไปอีกประมาณ 4,600 คันบวก 1,900 คันตกอยู่ประมาณ 6,500 คัน และท่านใช้ตรรกะว่าให้ไปดูว่าวันที่คนมาเยอะที่สุดนั้นแล้วตั้งสมมติฐานว่า 65 เปอร์เซ็นต์ใช้รถยนต์ส่วนตัวและมาในเวลาเดียวกัน ซึ่งมองว่าเป็นการประเมินที่สูงกว่าความจำเป็นและฟุ่มเฟือยเกินไป จึงขอให้ชี้แจงรายละเอียดว่าใช้สมมติฐานอย่างไรในการเติมที่จอดรถไปอีก 4,600 คัน ขอสูตรคำนวณ 

‘เจษฎา พรหมย้อย’ ข้าราชการสำนักงานรักษาความปลอดภัย ชี้แจงว่า ข้อมูลที่จอดรถหากว่าตามเรื่องข้อบัญญัติกทม.นั้น ในส่วนของบริษัทที่ปรึกษาโครงการได้คำนวณจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการไว้เมื่อปี 2559 จะมีประมาณ 5,575 คัน แต่หากประมาณการณ์ขั้นสูงจะอยู่ที่ประมาณ 6,000 คัน โดยสูตรในการคำนวณนั้นนับจากจำนวนคนหรือผู้มาใช้บริการเป็นการประมาณการณ์จากการนับคนที่เดินผ่านเครื่องวอล์กทรูที่เดินเข้ามาในแต่ละวัน และนับจำนวนคนที่เข้ามาในบริเวณอาคารรัฐสภาทั้ง 6 ช่องทาง โดยช่องจอดที่เรามีอยู่ในขณะนี้ หากเป็นวันที่มีการประชุมและมีผู้มาชี้แจงกมธ.ต่างๆ ช่องจอดรถก็จะเต็มอยู่ตลอด โดยในส่วนของสูตรการคำนวณนั้นเป็นการคำนวณของบริษัทคาม่าที่เป็นคนดำเนินการ ซึ่งจะส่งเป็นเอกสารให้อีกครั้งว่าสูตรคำนวณเป็นอย่างไร 

ด้าน ‘ณพัทธ์ นรังศิยา’ กมธ. ถามว่า วันที่จะสร้างที่จอดรถเสร็จคือช่วงเดือนธันวาคม 2571 เข้าใจว่าการที่มีที่จอดรถเพิ่มขึ้นเพราะเราไม่มีการขนส่งสาธารณะที่เพียงพอ แต่ในอนาคตเราจะมีรถไฟฟ้าสายสีม่วงซึ่งจะสร้างเสร็จในช่วงเดือนมกราคม 2572 จึงอยากทราบว่าในการคำนวณว่าต้องมีที่จอดรถถึง 6,500 คันนั้นได้รวมปัจจัยที่ทำให้คนมาถึงอาคารรัฐสภาได้โดยไม่ต้องใช้ที่จอดรถยนต์แล้วหรือไม่ 

เจษฎา ชี้แจงว่า ในการคำนวณช่องจอดรถนั้นเป็นการยึดตามข้อบัญญัติของกทม. ซึ่งมีอยู่สองส่วน คือ ยึดตามกฏหมายว่าควรมีเท่าไหร่ และดูตามหน้างานการใช้งานจริงว่าเป็นเท่าไหร่ โดยทั้งสองปัจจัยจะเป็นตัวกำหนด แต่ตัวที่เราใช้เป็นหลักคือพ.ร.บ.ที่กำหนดว่าเราต้องมีจำนวน 3,500 คัน แต่การที่จะมีประชาชนเข้ามาใช้จำนวนเท่าไหร่นั้นเป็นเรื่องของการประมาณการณ์ ทั้งนี้ สำหรับประเด็นเรื่องการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า ในส่วนของคณะอนุกรรมการ เราก็ได้มีการคำนวณในส่วนนี้ด้วยเช่นกันว่าการที่ประชาชนจะมาใช้บริการอาคารรัฐสภาแล้วมาด้วยรถไฟฟ้าก็จะมีอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งจะทำให้การใช้ที่จอดรถอาคารรัฐสภามีจำนวนน้อยลงเพราะมีการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ในส่วนของคณะอนุที่พิจารณาความเป็นไปได้และการใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารที่จอดรถนั้น มีการพิจารณาพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ เพื่อขอความอนุเคราะห์พื้นที่จอดรถชั่วคราวเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาชั่วคราว รวมถึงการเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบริเวณใกล้เคียงด้วย แต่การแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น ที่ประชุมอนุกรรมการมองว่าการมีที่จอดรถเป็นความจำเป็น ซึ่งนอกจากจะเป็นอาคารที่จอดรถแล้วยังจะมีการใช้ประโยชน์อื่นๆ ด้วย โดยที่คณะศึกษาความเป็นไปได้ได้พิจารณาถึงความเหมาะสม ความคุ้มค่าแล้วเพื่อออกแบบและกำหนดทีโออาร์ 

พริษฐ์ ซักถามว่า ท่านอ้างว่าทำตามกฎหมายซึ่งกฎหมายบอกว่า 3,500 คัน แต่ที่จะเติมมาจะจบที่ 6,500 คัน อีกทั้งยังบอกว่าคำนึงถึงการใช้รถไฟฟ้าแล้ว หมายความว่าหากไม่มีสถานีรถไฟฟ้าจะต้องมากกว่า 6,500 คันใช่หรือไม่และยังค้นพบว่าได้เปิดให้บริษัทเข้ามาทำการประมูลการออกแบบ แต่เมื่อไปค้นในงบประมาณปี 67 และปี 68 แล้วไม่เจองบประมาณโครงการนี้ จึงอยากถามว่าท่านเอางบไหนมาใช้ กระบวนการขออนุมัตินั้นเป็นอย่างไรได้ขออนุมัติจากสำนักงบประมาณหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ และแม้จะบอกว่าเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ แต่เหมาะสมแล้วหรือที่ผู้บริหารมองว่าการจ้างออกแบบในมูลค่าร้อยล้านบาทแล้วจะมีการนำไปสู่การสร้างอาคารถึงมูลค่า 500 ล้านบาทนั้น ควรจะมีการโอนงบประมาณจากโครงการอื่นมาใช้กับโครงการนี้ มีใครทักท้วงหรือไม่ ซึ่งหากจะใช้วิธีนี้ ต่อไปสภาผู้แทนราษฎรคงไม่ได้มีการรับทราบการอนุมัติ และต่อไปคงไม่ต้องมี กมธ.งบฯ แล้ว คนอนุมัติใช้หลักเกณฑ์อะไร หากจะทำควรมีการขอมาในร่างพ.ร.บ.งบประมาณเพื่อให้สภาฯ ได้อนุมัติ รวมถึงขอรายละเอียดของบริษัทที่เข้ามาประมูลว่ามีทั้งหมดกี่บริษัท ทำไมบริษัทนี้จึงชนะการประมูล 

เจษฎา ชี้แจงว่า เราเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาที่จอดรถ และหลังจากที่คณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ได้ดูเรื่องแบบ ความเหมาะสม งบประมาณแล้ว ในส่วนของอนุที่ 3 เห็นว่าการใช้งบประมาณ 4,500 ล้านบาทมีความเหมาะสมแล้ว จึงได้เรียนประธานสภาฯ ทราบ และจัดลำดับความสำคัญให้ประธานรัฐสภาฯ ว่าเรื่องใดบ้าง ซึ่งเรื่องอาคารที่จอดรถอยู่ลำดับที่ 1 จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไข โดยในช่วงปลายปี 67 จะมีงบประมาณเหลือจ่ายบางรายการประกอบกับเห็นว่าเป็นนโยบายที่มีความจำเป็น ซึ่งมีการนำเข้าคณะกรรมการแบบแผนและงบประมาณของสำนักงาน มีการพิจารณาตามขั้นตอน โดยเรื่องดังกล่าวมีการปรึกษาไปที่สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลางที่ดูภาพรวมในการที่จะดำเนินการ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.ฯ ได้ตั้งต้นซักถามต่อประเด็นการจ้างออกแบบก่อสร้างอาคารที่จอดรถรัฐสภาตามแนวถนนสามเสน ซึ่งพบประกาศของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ แจ้งถึงการประกาศผู้ชนะการเสนอราคา จ้างออกแบบ คือกิจการค้าร่วม กลุ่มบริษัท AGCC วงเงิน 104 ล้านบาท ลงวันที่ 25 มีนาคม 2568 ทั้งนี้พบด้วยการการก่อสร้างอาคารดังกล่าว ได้เตรียมจัดทำห้องไว้เพื่อประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ รวมอยู่ด้วย 

ทั้งนี้ ตัวแทนของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ชี้แจงว่า หลังจากที่ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาจ้างออกแบบแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงนามจ้าง เนื่องจาก 2 บริษัทที่เข้าร่วมเสนอราคานั้นอุทธรณ์ จึงทำให้ต้องตรวจสอบรายละเอียด  

ขณะที่อรุณ ชี้แจงว่า การเสนอโครงการดังกล่าวเป็นเพราะเรื่องปัญหาที่จอดรถ รวมถึงกรณีที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ เตรียมจะมีสำนักอาคารสถานที่ ทำให้ต้องพิจารณาถึงห้องทำงาน เพราะปัจจุบันห้องทำงานที่มีอยู่ไม่สะดวก ดังนั้นจึงออกแบบพื้นที่เพื่อให้รองรับเจ้าหน้าที่ จำนวน 500 คน  และยืนยันว่าไม่มีการทำห้องไว้สำหรับประธานสภาฯและรองประธานสภาฯ  ขณะที่ลักษณะอาคารนั้นอยู่ชั้นใต้ดินทั้งหมด 

อย่างไรก็ดี ในการตั้งคำถามของกมธ. พบว่า ปดิพัทธ์ สันติภาดา ตั้งคำถามว่า กรณีที่ระบุว่าใช้งบเหลือจ่ายเพื่อดำเนินการดังกล่าว จากที่ตนมีประสบการณ์พบว่าการใช้งบส่วนดังกล่าวนำออกมาใช้ยากมาก โดยครั้งหนึ่งเคยมีการเสนอเพื่อซื้อเครื่องกรองน้ำ ติดตั้ง 3 จุด วงเงิน 20,000 บาท  ต้องใช้การพิจารณา 2 ปี เพราะใช้วิธีแบบเดียวกับที่จ้างผู้ออกแบบไม่ได้ ดังนั้นกรณีที่เสนอโครงการดังกล่าวเป็นเพราะฝ่ายการเมืองต้องการใช่หรือไม่ 

“ผมเข้าใจว่าพวกท่านโดนตำหนิ เพราะผู้ติดตามสว.มีจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ถูกกดดัน แต่การใช้วิธีเร่งรัดพิเศษเป็นสิ่งที่ส่อว่าจะขัดกับระเบียบเรื่องนี้เป็นดำริของประธานสภาฯ หรือนโยบายของใคร ทั้งนี้เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่งด้วยใช่หรือไม่”

ปดิพัทธ์ ซักถาม 

ทำให้ว่าที่ ‘ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์’ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่า แม้ว่าประธานสภาฯ จะเป็นประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณา แต่ได้มอบให้ รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ แต่หากมีประเด็นที่จะมอบหมายให้พิเชษฐ์ไปเข้าร่วมประชุมเฉยๆ ทั้งนี้การกำหนดโครงการดังกล่าวเป็นเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาและประเมินปัญหาที่เกิดขึ้น 

ทั้งนี้ ประธาน กมธ.การพัฒนาการเมือง ได้ตั้งประเด็นซักถามถึงการทำโครงการอาคารที่จอดรถ จำนวน 4,600 คันมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ว่า การดำเนินการวางแผนออกแบบดังกล่าวนั้นผิดกฎหมายจ รวมถึงการจัดสร้างที่จอดรถชั้นใต้ดินนั้นควรพิจารณาทางเลือกอื่นที่ประหยัด นอกจากนั้น การใช้กระบวนการโอนงบประมาณที่เกิดขึ้นเข้าใจว่าเป็นโครงการที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทที่สภาฯ ดำเนินการภายใน 2 ปี ขณะที่การจ้างผู้ออกแบบก่อสร้างแต่ไม่ได้ลงนามสัญญาจ้างเพราะถูกอุทธรณ์ ทางกมธ.ขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้จัดส่งเอกสาร ที่เกี่ยวข้องรวมถึงตัวเลขของการประชุมคณะกรรมการที่พิจารณา 

ต่อจากที่ประชุม ได้ตั้งประเด็นซักถามถึงโครงการพัฒนาระบบภาพยนตร์ 4 มิติ ห้องบรรยายใหญ่ B1 และ B2 ที่ใช้งบประมาณสูงถึง 180 ล้านบาท โดยกมธ.ตั้งคำถามถึงความคุ้มค่า พร้อมเปรียบเทียบว่าประชาชนที่เข้ามาชมงานรัฐสภาต้องการเจอ สส.ตัวจริงมากกว่าการชมภาพถ่ายหรือในวิดีโอ ทั้งนี้ ‘ทิตวัจน์ ณรงค์แสง’ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานสารนิเทศ สำนักประชาสัมพันธ์ ชี้แจงว่าเป็นการทำโครงการแบบผิดฝาผิดตัว เพราะเรื่องดังกล่าวอยู่ในงานของสารสนเทศ แต่ได้ให้กลุ่มงานโสตทัศณูปกรณ์ดำเนินการ และเมื่อทำโครงการแล้วพบว่าเป็นโครงการพัฒนาระบบแทนที่ความต้องการที่แท้จริงคือ การทำห้องและปรับปรุงงานสารนิเทศ เพื่อรองรับผู้เยี่ยมชมรัฐสภา อย่างไรก็ดีสำนักงานเสนอโครงการไปทั้งสิ้น 9 โครงการ แต่ได้รับการอนุมัติคำขอ 3 โครงการ รวมงบ 5 ล้านบาท ซึ่งพบว่างบเพื่อจัดซื้อน้ำดื่มถูกตัดลงไปทำให้ไม่เพียงพอ ดังนั้นต้องแปรญัตติเพิ่มเติม 

“ต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กด้อยโอกาส เป็นสส. หรือส่งเสริมการปกครองตนเอง ทั้งนี้เงิน 180 ล้านบาทอนาคตอาจแพงกว่านี้ ดังนั้นเมื่อได้เริ่มถือว่าดีเสมอ ซึ่งในรายละเอียดอาจไม่ถึง 180 ล้านบาทก็ได้ แต่เมื่อได้มาแล้วต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อประชาชน ถ้าสส.เห็นว่าไม่จำเป็น ก็แล้วแต่ท่าน”

ทิตวัจน์ กล่าว 

ทั้งนี้ ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวที่ตนทราบมาจากกมธ.กิจการสภาฯ ที่ดูงานที่ กฟภ. ซึ่งมีการฉายภาพยนตร์ 4มิติให้นักเรียนได้ชม ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทะเล ทำให้นักเรียนที่ได้ชมชื่มชอบ ดังนั้นกมธ.จึงเปรยว่าอยากให้นักเรียนที่มาเยี่ยมชมรัฐสภาประทับใจ กับสำนักประชาสัมพันธ์ ซึ่งเข้าใจว่าเดิมจะทำให้มีศูนย์การเรียนรู้ แต่พบว่าได้ออกแบบเป็นโรงภาพยนตร์ เข้าใจว่าคงอยากให้นักเรียนมากรี้ดที่สภาฯ บ้าง



ข้องใจความเชื่อมโยงศาลาแก้ว-ห้องประชุม มีประสิทธิภาพอย่างไร 

ขณะที่โครงการปรับปรุงศาลาแก้ว พริษฐ์ ตั้งคำถามว่า มีการพูดถึง 5 เหตุผล ที่มีการจะปรับปรุงศาลาแก้ว จึงอยากให้เจ้าของโครงการชี้แจงว่าการปรับปรุงศาลาแก้วจะส่งเสริมเหตุผลดังกล่าวได้อย่างไรคือ 1.จะพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐอย่างไร 2.ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไร 3.จะสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เอื้อต่อการตัดสินใจและการประชุมที่มีประสิทธิภาพอย่างไร 4.สนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างไรและ 5.จะสนับสนุนการพัฒนาภาครัฐให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพอย่างไร  

ทำให้เจษฎา ชี้แจงว่า ในส่วนของการปรับปรุงศาลาแก้วได้มีการตั้งคณะกรรมการมาหนึ่งชุดในการปรับปรุงศาลาแก้วและห้องประชุมงบประมาณ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงศาลาแก้วภาพรวม คือเป็นพื้นที่ต่อเนื่องที่กำลังจะทำแท่นฐานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 และในส่วนของพื้นที่ต่อเนื่องด้านหน้าซึ่งมีการใช้พื้นที่ เพื่อที่จะปรับภูมิทัศน์ให้ประชาชนและผู้ที่เข้ามายังบริเวณรัฐสภาก็สามารถใช้พื้นที่พื้นที่บริเวณด้านหน้าให้เต็มประสิทธิภาพ  

ฉะนั้น ศาลาแก้วเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงภูมิทัศน์และฟังก์ชันในการใช้งานทั้งหมดของบริเวณด้านหน้ารัฐสภา ซึ่งในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเราใช้ในการต้อนรับผู้นำต่างประเทศที่มาเยี่ยมเยียนรัฐสภาโดยปกติจะใช้ในส่วนของด้านปลาอานนท์ในการรับผู้นำประเทศ ที่เป็นบริเวณติดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในส่วนที่ติดของถนนสามเสนนั้น เมื่อมีการทำสถานีรถไฟฟ้าเสร็จเรียบร้อยตรงนี้ก็จะเป็นภูมิทัศน์ที่สามารถรองรับผู้นำหรือผู้ที่มารัฐสภา จึงเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับได้ 

เจษฎา กล่าวว่า ส่วนข้อสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการตัดสินใจและการประชุมอย่างมีประสิทธิภาพคือในการต้อนรับผู้นำหรือแขกที่มา โดยในส่วนของการปรับปรุงศาลแก้วมีสองส่วนคือศาลาด้านที่หนึ่งจะเป็นศาลาพิธีการสามารถที่จะรองรับพิธีการต่างๆ ได้ และศาลาอีกฝั่งหนึ่งจะเป็นของการจัดเลี้ยงหรือสามารถรองรับในการทำกิจกรรมที่ให้ประชาชนหรือผู้ที่มาติดต่อทางรัฐสภาสามารถใช้บริการในแง่ที่ติดต่อได้ และนอกจากจะมีพระบรมราชานุสาวรีย์แล้ว เรายังมีสวน บ่อน้ำ และสระบัวต่างๆ ให้ประชาชนเข้ามาใช้พื้นที่ยังบริเวณได้เพิ่มมากขึ้น และในแผนต่างๆในเรื่องของการปรับภูมิทัศน์ ยังไม่ได้กำหนดลงในทีโออาร์ทั้งหมด แต่อาจจะมีเรื่องทำน้ำพุหรือจัดภูมิทัศน์ที่จะให้ประชาชนใช้พื้นที่หน้าอาคารรัฐสภาได้ และภาพรวมการใช้พื้นที่บริเวณด้านหน้าทั้งหมดจะมีส่วนต่อเชื่อมพระบรมราชานุสาวรีย์ รวมถึงส่วนของสวนที่ประชาชนเข้ามาใช้บริการ จึงเป็นการสรุปว่าเป็นการบริหารจัดการภาครัฐที่ให้ประชาชนได้เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณด้านหน้าของอาคารรัฐสภา  

ด้าน พริษฐ์ มองว่าเชื่อมโยงยากว่าการมีศาลาแก้วจะสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เอื้อต่อการตัดสินใจ และการประชุมที่มีประสิทธิภาพอย่างไร ไม่เห็นความเชื่อมโยงจริงๆ เหมือนท่านกำลังจะบอกว่าลงทุนไปหมื่นล้านบาทอลังการยังไม่พอต้องมีศาลาแก้วมาด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะดีขึ้น เข้าใจว่าผู้ชี้แจงนั้นมาชี้แจงแทนหน่วยงาน แต่ตนหาความเชื่อมโยงยากจริงๆ 

ขณะที่ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นอดีตรองประธานสภาฯ และเคยได้รับผู้แทนจากต่างประเทศต่างๆทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสภาฯของเราฟุ่มเฟือย ใหญ่เกินไป ซึ่งคิดว่าโครงการนี้เป็นเพียงแค่หนึ่งตัวอย่างในปีหน้าก็อาจจะมีอีก แต่การตกแต่งสภาอาจจะไม่มีวันสิ้นสุด หากเราคิดว่าการตกแต่งพวกนี้จะส่งเสริมภารกิจของสภาซึ่งความจริงภารกิจของสภาคือประสิทธิภาพของการพิจารณากฎหมาย มองว่าร้อยล้านหากเทียบกับโครงการอีกหลายร้อยล้าน อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กสำหรับหน่วยงานราชการ แต่ถ้ามองสะท้อนไปในบริบทประเทศ คิดว่าเรื่องนี้ผ่านไปท่ามกลางความสาปแช่งของคนในประเทศแน่นอน และตนรับประกันว่าจะไม่ได้ใช้งาน เพราะที่รับรองของเรามีอยู่แล้ว 

เจษฎา ชี้แจงว่า ศาลาแก้วเป็นส่วนหนึ่งในการปรับภูมิทัศน์ในอาคารรัฐสภาด้านหน้า ซึ่งศาลาแก้วตามเดิมคอนเซปเดิมก็เป็นศาลาและเป็นอาคารเรือนชานลักษณะการนั่งกับพื้น ไม่มีโต๊ะหรือเก้าอี้ ซึ่งสามารถเข้ามาใช้บริเวณตัวศาลาในการนั่งพักผ่อนและประชาชนสามารถเข้ามาใช้งานได้ตามที่ผู้ออกแบบได้ตั้งใจไว้ แต่ในทางสำนักงานก็มองว่าการที่จะใช้บริเวณด้านหน้ายกระดับการใช้งานเพิ่มมากขึ้นในการที่จะเป็นสถานที่ รองรับมาเยือนของผู้ที่มาเยี่ยมเยียนเป็นแขกของรัฐสภา อีกส่วนหนึ่งอีกส่วนหนึ่งคือในอนาคตจะมีแท่นฐานและพระบรมราชานุสาวรีย์ ซึ่งอาจจะมีรัฐพิธีต่างๆ ที่รองรับพลับพลาที่ประทับ ในภาพรวมจึงอยากให้มองว่าเป็นการปรับภูมิทัศน์ด้านหน้าทั้งหมด ซึ่งตัวศาลาแก้วก็เป็นส่วนหนึ่งของตรงนั้น ในส่วนของพลังงานในคณะกรรมการพิจารณาก็พิจารณาในส่วนตรงนี้ด้วยเช่นกัน ในเรื่องของการติดแอร์ เรื่องของการปรับภูมิทัศน์แบบไหนที่ให้คงสภาพเป็นศาลาแก้วอยู่ และการติดแอร์ไม่ได้เป็นอาคารถาวร 

ฉะนั้น ในส่วนของที่กั้นพื้นที่ในการที่จะไม่ให้แอร์ออกหรือเป็นบางส่วนให้เห็นตัวอาคาร ซึ่งในเรื่องของการใช้พลังงานคงไม่ได้เป็นฟังก์ชันหลักของการเปิดแอร์เพื่อจะรองรับคนที่เข้ามาในบริเวณนี้ ก็ยังคงความเป็นศาลาอยู่แต่ในการใช้งานบางประเภทที่ต้องมีการตั้งรับหรือในช่วงเวลาที่มีความร้อนก็อาจจะดึงในบางส่วน เช่นผ้าใบที่สามารถกั้นแสงแดดได้ ส่วนของการใช้ศาลาแก้วบ่อยใช้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรม และปัจจุบันการรับผู้นำต่างประเทศที่มาเยี่ยมเยียนรัฐสภา 1 เดือน ประมาณ 3-5 ครั้ง  



ถกสนั่น ‘ปรับปรุงฉากหลังบัลลังก์ 133 ล้านบาท’ 

เจษฎา ชี้แจงด้วยว่า ในขณะที่โครงการปรับปรุงฉากหลังบัลลังก์ 133 ล้านบาท มีคณะกรรมการในการพิจารณาเบื้องต้นการออกแบบฉากหลังเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาตั้งแต่รัฐสภาก่อนหน้านี้ เรื่องที่สืบเนื่องมาตลอด และฉากหลังในรูปแบบเดิมคือการใช้ผ้าแคนวาสและลักษณะรูปภาพที่ใช้เป็นศิลปะไทย ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาแล้วว่าฉากหลังขอให้เป็นเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยโดยจุดตั้งต้นตั้งแต่ปี 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมีเรื่องราว โดยเชิญกรมศิลปากรมาช่วยออกแบบฉากหลังบัลลังก์ให้ ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ให้ข้อคิดเห็นว่าการใช้ทำเป็นศิลปะนูนสูง คือลักษณะการใช้บรอนซ์ ในการตัดเป็นชิ้นเล็กๆและมาต่อในบริเวณฉากทั้งหมด ซึ่งต้องใช้บรอนซ์ ทั้งหมด 16 ตัน เพื่อทำเป็นฉากหลังและมีเรื่องราวตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน  

ทำให้พริษฐ์ กล่าวว่า ท่านพูดถึงคณะกรรมการบ่อยมาก ในแต่ละโครงการเป็นชุดเดียวกันหรือไม่ ตั้งโดยใคร เจษฎา จึงชี้แจงว่า ทั้งหมดเป็นคำสั่งรัฐสภาในการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆเพื่อที่จะศึกษาในแต่ละเรื่องอย่างรอบด้านทั้งเหตุผล ความจำเป็นที่มา และงบประมาณ ซึ่งข้อสรุปที่ได้จากรายงานจะเสนอขึ้นประธานรัฐสภาเพื่อพิจารณารับทราบ  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในตอนท้ายการประชุม พริษฐ์ กล่าวว่ากรณีที่หน่วยงานเสนอของบประมาณ และบอกให้ไปตัดในชั้นกรรมาธิการ ส่วนตัวไม่สามารถยอมรับในบรรทัดฐานดังกล่าวได้ ดังนั้นเมื่อสังคมตั้งคำถามเรื่องดังกล่าว ควรพิจารณาทบทวน ว่าไม่ควรเสนออะไรฟุ่มเฟือย และเป็นโครงการที่แก้ปัญหาให้ประชาชนได้จริง 

“ผมขอคำยืนยันจากหน่วยงานว่าจะยุติการเสนอของบประมาณในโครงการต่างๆ หรือไม่ แม้เรื่องดังกล่าวจะไม่ใช่ผลลัพท์ทางกฎหมาย แต่จะมีประโยชน์เพื่อให้กรรมาธิการวิสามัญตัดงบง่ายขึ้น เพราะหน่วยงานเปลี่ยนใจว่าไม่จำเป็น  และแม้ว่าจะให้กรรมาธิการวิสามัญตัดในการพิจารณางบประมาณ แต่อาจเกิดกรณีซ้ำกับการใช้เงินร้อยล้านบาทเพื่อจ้างออกแบบ ทั้งที่โครงการหลักยังไม่อนุมัติ และหากหน่วยงานต้นทางเห็นด้วยกับการยุติโครงการ เชื่อว่าจะเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาได้” 

พริษฐ์ กล่าว

 ทางด้านเลขาธิการสภาฯ กล่าวว่า โครงการที่เสนอของบประมาณ นั้นเป็นกระบวนการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เสนอตามคำของบประมาณ ซึ่งต้องผ่านการรับฟังความเห็น หากให้ตนพิจารณาจะเป็นการหักด้ามพร้าด้วยเข่า เพราะกระบวนการไม่ได้เริ่มที่เขา ดังนั้นเบื้องต้นจะหารือกับหน่วยงานเจ้าของโครงการ รวมถึงประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ 



เรื่องเด่นประจำสัปดาห์