“สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ ขอพูดว่ารัฐบาลขยับได้เร็ว ความช่วยเหลือไปถึงเร็วมาก ขอให้เปิดใจในเรื่องนี้ อย่าคิดว่าดิฉันเป็นคนเหนือ แต่งงานกับคนใต้ค่ะ คนที่ทำงานด้วยหลายคนก็เป็นคนใต้ จึงไม่ใช่เลย ที่จะต้องมีดราม่าในเรื่องนี้ และทุกคนไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนเป็นคนไทย วันนี้ที่ดิฉันบอกจะขอเป็นนายกฯ ของคนไทยทั้ง ต้องรักษาคำสัญญานั้น“
คำพูดประโยคนี้กลายเป็นดราม่า ชนิดไม่ทันข้ามวัน หลัง ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระหว่างปฏิบัติภารกิจในการประชุมครม.สัญจร ณ จังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยกระแสวิพากษ์วิจารณ์มุ่งไปยังบริบทการสื่อสารของ ‘นายกรัฐมนตรี’ ที่มีการเอ่ยถึงสายสัมพันธ์ทางครอบครัว (สามีเป็นคนภาคใต้)
ทำเอาภาคการเมืองหลายฝ่ายออกมาตั้งคำถาม รวมถึง ‘เทพไท เสนพงศ์’ อดีตสส. นครศรีธรรมราช ที่ออกมาแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ว่า เมื่อได้ฟังการยกเหตุผลของ ‘อุ๊งอิ๊ง’ รู้สึกมึนงงและไม่เข้าใจว่าใช้ตรรกะอะไรมาตอบ เพราะการแต่งงานกับคนใต้ ถือเป็นเรื่องความรัก (เฉพาะบุคคล) เมื่อรักกันก็แต่งงานกัน
แต่การช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ เป็นเรื่องความเดือดร้อน เป็นเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับคนหลายจังหวัด หน้าที่ของรัฐบาลก็ต้องไปช่วยเหลือเยียวยา คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ควรไปให้กำลังใจ แม้ว่าไปแล้ว ไม่ได้ช่วยให้น้ำแห้งลงในทันทีก็ตาม แต่เป็นเรื่องการแสดงออกถึงความรับผิดชอบ และเป็นจิตสำนึกของความเป็นนักการเมืองที่มีต่อประชาชน
การยกเอาประเด็นการแต่งงานกับคนใต้ มาเปรียบกับการช่วยเหลือคนใต้ มันคนละเรื่องกัน เป็นตรรกะที่ผิดเพี้ยนไป และได้เห็นหลักคิดหรือความคิดของคุณอุ๊งอิ๊ง แบบแปลกๆหลายครั้งแล้ว จึงรู้ได้ว่าเป็นคนที่มีหลักคิดผิดปกติ หรือมีตรรกะที่เพี้ยนจริงๆ
แม้ล่าสุด จะมีการออกมาแสดงมุมมองของคณะรัฐมนตรี เพื่อปกป้องคำครหาที่ต่อ ‘แพทองธาร’ อย่างกรณีของ ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาระบุว่า คนในพื้นที่ไม่ได้ติดใจอะไร ส่วนใหญ่เข้าใจถึงภารกิจของนายกฯ สิ่งที่ต้องการที่สุดคือมาตรการเยียวยาระยะยาว ที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรให้หลังจากนี้
‘รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก’ นักวิชาการด้านกฎหมาย ที่คอยจับตาการทำงานของรัฐบาลมาโดยตลอด แสดงความเห็นว่า การสื่อสารของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะล้วนส่งผลต่อสภาพจิตใจของประชาชน ตลอดจนมีผลกับความรวดเร็ว - ล่าช้า ต่อการแก้ไขสถานการณ์ในภาวะต่างๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ฉุกเฉิน อาจต้องมีทีมงานเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลอย่างทันท่วงที เพื่อให้คำตอบที่ออกไปเกิดประโยชน์ - ไร้ความผิดพลาดตามมากที่สุด
กรณีดราม่าที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า แพทองธารและทีมสื่อสารของรัฐบาล - พรรคเพื่อไทย มีความบกพร่องด้านการเตรียมข้อมูล ส่งผลให้การตอบคำถามของนายกฯ กลายเป็นสิ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์
ทว่า บทเรียนครั้งนี้ สะท้อนภาพปัจจัย 3 ประการ ที่ตัวนายกรัฐมนตรีเอง อาจต้องปรับเปลี่ยนด้วย หนึ่งการเลือกบริบทสื่อสาร โดยเฉพาะเรื่องการให้บทบาทของคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเอ่ยถึงตัวเอง หรือผู้อื่น เพราะบางขณะการเอ่ยถึงเรื่องคนในครอบครัว อาจไม่ใช่วิสัยที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเด็นสาธารณะ ซึ่งตนเองมีตำแหน่งสำคัญของการเป็นผู้นำประเทศ สองต้องจัดการวิธีคิดมุ่งตรงไปที่ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะห้วงที่มีความจำเป็นต้องเอ่ยถึงปัญหา จะต้องอธิบายเนื้อในต่อประชาชนให้ชัดเจนด้วย
“อย่ามองว่าตัวเองคือศูนย์กลางจักรวาล มันจะเป็นการง่ายต่อการผิดพลาดจนถูกวิจารณ์ ต้องมีความรู้และเท่าทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่พูดแต่เรื่องตัวเองหรือครอบครัวอย่างเดียว”
— เจษฎ์ กล่าว
สุดท้ายคือการต้องศึกษาสถานการณ์บ้านเมืองอย่างเข้าใจในหลายๆ เรื่อง หากไม่เข้าใจหรือไม่มั่นใจ อาจต้องมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจ ในแบบที่ควรเป็น อย่าหวังแค่ใครชงหรือยัดอะไรใส่มือ แต่ต้องซักไซร้ไล่เรียงเองเพื่อเป็นการทำความเข้าใจเอง
ทั้งหมดทั้งมวล เจษฎ์ มองว่า ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะกรณีน้ำท่วมภาคใต้ แต่หลายครั้ง นายกฯ มักมีปัญหากับเรื่องการสื่อสารข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอ็มโอยู 44 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจัดทำประชามติ ฯลฯ แต่มองอย่างเป็นธรรม แพทองธารมีสิทธิ์ในการพัฒนาทักษะนี้ เพราะเรื่องการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ และผู้นำระดับประเทศหลายคน (ทั่วโลก) ก็มักประสบอยู่
“เมื่อเนื้อหาไม่มีก็ไม่รู้จะเอาไรมาพูด นอกจากเรื่องของท่าน (แพทองธาร) ซึ่งดูเหมือนคอยลดทอนเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ และในอีกหลายเรื่อง ท่านมักอธิบายพร้อมๆ กับการถามคนหน้างานเอา ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องอันตรายมาก มันควรมีการทำสรุปคือการเตรียมคำตอบที่ดีกว่านี้ เพราะจะเป็นการป้องกันความผิดพลาดได้ เพราะมันไม่ได้เสียหายแค่ตัวท่าน แต่มันเสียหายถึงระดับประเทศเลยนะ”
— เจษฎ์ กล่าวทิ้งท้าย