ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก
วิธีที่ 12 โซเชียลดีท็อกซ์ (สังคมที่ทำให้ลำบาก ไม่ต้องมีก็ได้)
ไถฟีดทีไร ถ้าไม่จิตตก ก็ตกเป็นทาสการตลาด แล้วก็ช้อปเพื่อโลก (ร้อน) กันต่อไป
แนะนำ: ยุ่งเรื่องชาวบ้านน้อยลง ลดการเปรียบเทียบและฟุ้งเฟ้อ ต้นเหตุภาวะโลกร้อน

WHAT (เกิดอะไรขึ้นอ่ะ?)
ดึกแล้วยังไม่นอน...ไถฟีดโซเชียลมีเดียไปเรื่อยเปื่อย ระหว่างทำงาน...แอบแวะเปิดโซเชียลฯ อัพเดทเรื่องชาวบ้านแก้เซ็งหน่อยดีกว่า หรือไม่รู้ทำไร...รู้ตัวอีกทีก็พบตัวเองเดินเล่นอยู่ในโซเชียลฯ โดยไม่รู้ตัว
ใครเป็น (เคยเป็น และยังเป็น) แบบตัวอย่างที่ยกมา ไม่ว่ากรณีไหน (หรือทุกกรณี) ยินดีด้วยคุณคือคนหนึ่งที่ช่วยให้ไทยติดอันดับโลก (เรื่องปริมาณการเล่นโซเชียลมีเดียนะ)
ข้อมูล Digital Stat & Insight 2024 ของคนไทย จัดทำโดย We Are Social ระบุว่า คนไทยออนไลน์ติดอันดับ 10 ของโลก วันละ 7 ชั่วโมง 58 นาที
“ถ้าคนไทยออนไลน์เยอะขนาดนี้ แสดงว่าเขามีโอกาสเป็นลูกค้าเรา เห็นแอดโฆษณาเราไม่น้อยแน่นอน”
— การตลาดวันละตอน (Everyday Marketing)
เว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่คนไทยใช้เยอะที่สุด คือ โซเชียลเน็ตเวิร์ค (หรือโซเชียลมีเดีย) ถึง 98.6% ใช้เวลาไปกับสิ่งนี้

บทความ คนไทยซื้อสินค้าผ่าน ‘โซเชียลมีเดีย’ มากสุดในโลก โดย ลงทุนแมน เพจด้านการลงทุนที่เผยแพร่เมื่อปี 2023 บอกว่า นอกจากจุดประสงค์เพื่อความบันเทิงแล้ว โซเชียลมีเดียยังเป็นช่องทางการช้อปปิ้งหลักของคนไทย
“คนไทยทุกๆ 100 คน จะมีมากถึง 88 คน มีการซื้อสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย สัดส่วนนี้ เรียกได้ว่าเป็น สัดส่วนมากสุดในโลก”
— ลงทุนแมน
ถ้าคุณรู้ว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ มีรายได้หลักมาจากโฆษณา ดังนั้น ไม่แปลกถ้าจุดประสงค์หลักของมัน (นอกจากสร้างความเพลิดเพลินให้เรา) คือการกระตุ้นให้เกิดการบริโภค
ช้อปเลย! สนใจคลิก! จองด่วน! ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ! ฯลฯ แต่ละวันมีข้อความโฆษณาทำนองนี้ (รวมถึงโฆษณาแฝงต่างๆ เช่น Advertorial) วิ่งผ่านสายตาผู้คนราว 4,000-10,000 ครั้ง
และคงไม่แปลกเช่นกัน ถ้าคุณจะตกเป็นเหยื่อการตลาด เผลอกดซื้อบางสิ่งโดยมาคิดได้ทีหลังว่า เราซื้อสิ่งนั้นมาทำไม ใช่, มันเป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบ แล้วคุณก็จะตั้งสติได้และคิดว่าจะไม่ซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็นอีก เพราะตอนนี้ในห้องหรือบ้านคุณเต็มไปด้วยสิ่งเหล่านั้นกองอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่ง และบางส่วนยังไม่ได้แกะออกจากกองพัสดุด้วยซ้ำ แต่หลังจากนั้น คุณก็เผลอไผลให้กับอารมณ์ชั่ววูบอีกครั้ง วนเวียนเป็นวงจรขับเคลื่อนและหล่อเลี้ยงระบบทุนนิยมให้ดำรงอยู่ต่อไป
วงจรนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณคนเดียว แต่เป็นเรื่องปกติ และเป็นสิ่งที่เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจงใจออกแบบให้เป็นแบบนั้น
คนที่เคยดูสารคดีเรื่อง The Social Dilemma จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ทันที แพลตฟอร์มต่างๆ ที่ดูเหมือนจะให้พวกเรา “ใช้ฟรี” จริงๆ แล้วมีราคาที่เราต้องจ่ายนั่นคือ “ข้อมูลส่วนตัว” ที่เจ้าของแพลตฟอร์มนำไปค้าขายให้คนที่ต้องการลงโฆษณาอีกต่อหนึ่ง เพื่อให้คนเหล่านั้นยิงสิ่งที่คุณสนใจให้คุณกลายเป็นลูกค้าพวกเขาอีกที
ส่วนกลไกต่างๆ ในนั้น ไม่ว่าการโพสต์ ไลค์ แชร์ หรือใดๆ ก็ตาม ล้วนถูกคิดและออกแบบตามหลักจิตวิทยา และเล่นกับระบบความคิด จิตใจ และสัญชาตญาณดิบของเรา เพื่อบงการให้ผู้ใช้ทำตามจุดประสงค์ของเจ้าของแพลตฟอร์มโดยไม่รู้ตัว
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ การอวดโชว์ชีวิต ความสุข ความสำเร็จของผู้คนในนั้น เหมือนจะดี แต่สิ่งนั้นทำให้หลายคนเกิดการเปรียบเทียบ รู้สึกด้อย ขาดพร่อง และจำนวนมากจิตตก ซึมเศร้า ไร้สุข
ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากการใช้โซเชียลมีเดียเกิดขึ้นทั่วโลก โจนาธาน ไฮด์ท (Jonathan Haidt) นักจิตวิทยาสังคม ผู้เขียนหนังสือ The Anxious Generation ให้ยืนยันว่า
“สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียเป็นตัวการที่สร้าง ‘ความทุกข์ทรมาน’ ให้วัยรุ่นทั่วโลกตะวันตก”
— โจนาธาน ไฮด์ท, ผู้เขียนหนังสือ The Anxious Generation

หากคุณเป็นนักโฆษณาหรือนักการตลาดจะรู้ว่า การจะทำให้คนซื้อของของคุณ คือการสร้าง ‘ความอยาก’ ด้วยการทำให้คุณรู้สึก ‘ขาด’ เพื่อให้สิ่งนั้นมาเติมเต็ม เพื่อให้คุณเป็นคนที่ดีขึ้น มั่นใจขึ้น หรือแม้กระทั่งเพื่อช่วยให้โลกนี้และสังคมดีขึ้น (ซึ่งเป็นกลวิธีการสื่อสารในยุคหลังที่เน้นเรื่อง 3P - Profit People Planet หรือแนวคิดที่บอกว่า ธุรกิจที่ดี นอกจากทำกำไรแล้ว ต้องทำให้โลกและชีวิตผู้คนดีขึ้นด้วย)
ขอเดาว่า ตอนนี้คุณน่าจะอ่านข้อความนี้ หลังจากกดลิงค์ในโพสต์บนโซเชียลมีเดีย รวมถึงก่อนหน้านั้นหรือหลังจากนี้ คุณน่าจะเห็นโพสต์ใครบางคนที่ทำให้คุณรู้สึกอิจฉา หรือไม่ก็เห็นโพสต์โฆษณาสินค้าที่คุณกำลังอยากได้อยู่พอดี
และมีความเป็นไปได้เหลือเกินว่า คุณจะกดซื้อมัน (หรือถ้าพอฝืนใจได้ คุณอาจกดใส่ตะกร้าไว้ก่อนเพื่อตัดสินใจว่าจะซื้อมันอีกทีดีไหม?)
WHY (ทำไมโลกร้อนล่ะ, เกี่ยวไร?)
อย่างที่บอกไม่ใช่คุณคนเดียวที่ช้อปของที่บางทีก็งงตัวเองว่า “ซื้อมาทำไม?” เพราะกลไกบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ส่งผลโดยตรง (แบบเนียนๆ) ที่จะกระตุ้นความอยากให้เกิดขึ้น พร้อมออกแบบประสบการณ์แบบไร้รอยต่อ (Seamless Marketing) เพื่อให้เราซื้อสินค้าแบบ “รูดปรื๊ด” ภายในเสี้ยววินาที
ใจกลางของปัญหาโลกร้อนอยู่ตรง ‘การผลิตและบริโภคที่เกินพอดี’ แต่ดูเหมือนสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องปกติจนกลายเป็นความเคยชิน
“80% ของเสื้อผ้าที่ซื้อ จะถูกใส่แค่ไม่กี่ครั้ง แล้วก็ถูกทิ้งให้นอนตู้ นี่คือหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด” ซึ่งคุณอ่านเพิ่มเติมได้ใน ฮาวทูกู้โลกรวน - วิธีที่ 5: โละตู้กู้โลก (Fast Fashion เร็ว! แรง! ทะลักตู้!)

สินค้ามากมายถูกผลิตมากเกินจำเป็น ไม่ใช่แค่สินค้าในนิยามที่เราคุ้นเคย แม้แต่คอนเทนต์ที่เราแต่ละคนเป็นผู้ผลิตก็ล้นเกิน (overload) และดาษดื่นด้วยปริมาณมากกว่าคุณภาพ
ต้นทางของการผลิตคือทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นสินค้า (ทรัพยากรในการผลิต) หรือคอนเทนต์ (พลังงานไฟฟ้า) ล้วนต้องอาศัยทรัพยากรทั้งสิ้น
ถ้าโฟกัสไปที่โซเชียลมีเดียว่ามีผลต่อโลกร้อนแค่ไหน เราอาจอนุมานแบบบ้านๆ (ไม่ได้อิงผลวิจัยใดๆ) ได้ด้วยการนับจากปี 2004 ที่ยักษ์ใหญ่ด้านโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook เกิดขึ้น เทียบเคียงกับแนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกหลังจากนั้น
แน่นอนว่า มันเพิ่มขึ้น!

HOW (ทำอย่างไรล่ะทีนี้)
อย่ายุ่งเรื่องชาวบ้านให้มากเกิน เพราะคนเราไม่ได้เติบโตจากการยุ่งเรื่องคนอื่น ดูเหมือนคำสอนนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นหลังโซเชียลมีเดียพาเราข้าม space and time ให้เข้ายุ่งเรื่องคนอื่นได้ง่ายดายเพียงลัดนิ้วมือ
สำหรับใครที่อยากโซเชียลดีท็อกซ์ ลด-ละ-เลิก โซเชียลมีเดียให้น้อยลง แนะนำลองทำตามขั้นตอนดังนี้ ทีละขั้น ค่อยๆ ทำเท่าที่ทำได้ แล้ววันหนึ่งคุณจะรู้สึกแปลกใจที่อยู่ดีๆ โซเชียลมีเดียกับคุณก็เหลือสถานะเป็นเพียงแค่คนเคยคุ้นหรือเพื่อนเก่าที่ไม่ได้สนิทกันแล้ว

- ลดการโพสต์และแสดงความคิดเห็น รวมถึงการปฏิสัมพันธ์ในโซเชียลมีเดีย
- ลบแอปพลิเคชั่น เพื่อให้เข้าถึงได้ยากขึ้น (แต่ก็ยังเข้าถึงได้นะ ถ้าต้องการ แต่เชื่อเถอะ คุณจะพยายามเข้าถึงเท่าที่จำเป็น และคุณจะค้นพบกิจกรรมใหม่ๆ มากกว่าแค่การไถฟีด)
- จำกัดเวลาในการเล่นสมาร์ทโฟน (จับโทรศัพท์น้อยลง เชื่อเถอะชีวิตจะดีขึ้น!)
เพียงแค่ 3 ขั้นตอนเท่านั้น ลองทำดู แล้วชีวิตของคุณจะเรียบง่ายขึ้นเยอะ และมีความสุขมากขึ้นเป็นกอง