ฮาวทูกู้โลกรวน - วิธีที่ 10 รักษ์สัตว์ (ความรักที่แท้จริง จะนำมาซึ่งความรักษ์)

13 ม.ค. 2568 - 11:42

    ecoeyes_how_to_heal_the_planet_love_animals_SPACEBAR_Hero_d6ae88d682.jpg

    ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก

    วิธีที่ 10 รักษ์สัตว์ (ความรักที่แท้จริง จะนำมาซึ่งความรักษ์)

    สัตว์กำลังถูกฆ่าให้สูญพันธุ์ เพราะการบริโภคในชีวิตประจำวันของมนุษย์

    แนะนำ: รักสัตว์โลก ให้เหมือนรักตัวเอง ช่วยหมูเด้งและเพื่อนๆ สัตว์ ด้วยวิถีปฏิบัติ Green Consumer

    Eco_Eye_Project_INFO_Template_D_10_604bc45d19.jpg

    WHAT (เกิดอะไรขึ้นอ่ะ?)

    “ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 73% ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา”

    รายงาน Living Planet จัดทำโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF)

    มนุษย์อย่างเราๆ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นและแออัด คงไม่รู้ว่าสัตว์ป่าที่อยู่ตามป่าเขาและในแหล่งน้ำกำลังเผชิญหน้าภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะพวกมันสูญเสียพื้นที่ป่าที่เปรียบเสมือน ‘บ้าน’ เนื่องจากมนุษย์รุกรานเอาไปทำพื้นที่เศรษฐกิจ แถมสภาพอากาศที่คุ้นเคยก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็นคนแปลกหน้าต่อกันมากขึ้นทุกวัน (สถิติการลดลงของจำนวนประชากรสัตว์โลก อ้างอิง: รายงาน Living Planet จัดทำโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกหรือ WWF)

    PIC_01_7ee093d59e.png
    กราฟแสดงจำนวนประชากรสัตว์ทั่วโลกในช่วงปี 1970-2020 จัดทำโดย WWF

    เมื่อบ้านที่เคยใหญ่เหลือเล็กลง ธรรมชาติรอบตัวผิดเพี้ยน (อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้นทุกปี ข่าวร้ายภัยธรรมชาติที่เกิดถี่จนเข้าใกล้ความปกติ คือหลักฐานชั้นดี) ประชากรสัตว์ทั่วโลกจึงค่อยๆ ลดลง และบางสายพันธุ์กำลังสาบสูญไปอย่างเงียบเชียบ

    WHY: (ทำไมโลกร้อนล่ะ, เกี่ยวไร?)

    หลังเข้าปี 2025 มาได้ 10 วัน (10 มกราคม) นักวิทยาศาสตร์องค์การนาซา (NASA) เผยข้อมูลอุณหภูมิพื้นผิวโลกโดยเฉลี่ยเมื่อปี 2024 หรือปีที่แล้วว่า เป็นปีที่อุณหภูมิร้อนที่สุดเท่าที่มาการบันทึกไว้

    โลกในปี 2024 มีอุณหภูมิอุ่นขึ้นราว 1.47 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และกว่าครึ่งหนึ่งของปี อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส’

    PIC_02_01ac75f6fa.png
    แผนภาพอุณหภูมิเฉลี่ยโลกตั้งแต่ปี 1880-2024 โดยองค์การนาซา

    แล้วเรื่องนี้เกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ ที่สูญเสียและสูญพันธุ์อย่างไร ตอบให้ชัดและตรงที่สุด คือ สิ่งมีชีวิตไม่ว่าพืชและสัตว์ต่างอิงอาศัยกันและเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศในธรรมชาติ เมื่อธรรมชาติผิดเพี้ยน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง บรรดาสัตว์ก็ต้องเผชิญหน้ากับความผิดปกติทั้งบนบก ในน้ำ หรือแม้กระทั่งอากาศ

    “ระบบนิเวศทางทะเล บก และน้ำจืดทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป มหาสมุทรมีความเป็นกรด และระดับปริมาณน้ำฝนไม่เหมือนเดิม ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่สิ่งมีชีวิตหลายชนิดจะปรับตัวได้” -- บทความ The Impact of Global Warming on Biodiversity: How Can Companies Help Preserve It? โดย ClimateSeed ระบุ

    PIC_03_65aaff73c8.jpg
    อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นส่งผลให้สัตว์มีแหล่งที่อยู่อาศัยลดลง. United Nations

    ตามสัญชาตญาณการเอาตัวรอด สัตว์ที่อยู่ไม่ได้ก็ต้องปรับตัว และจำนวนมากต้องอพยพย้ายถิ่น เพราะสูญเสียแห่งที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกันการมาถึงของสัตว์แปลกถิ่น อาจส่งผลให้สัตว์เจ้าถิ่นถูกคุกคามและสูญพันธุ์ ระบบนิเวศในพื้นที่เดิมผิดเพี้ยนและรุนแรงถึงขั้นพังทลาย (กรณีปลาหมอคางดำที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2567 เป็นกรณีที่อธิบายเรื่องนี้ได้อย่างเห็นภาพ)

    PIC_04_655adee4f0.png
    หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส ปะการังจะหายไปถึง 99% หรือเกือบสาบสูญไปจากโลก

    ความจริงระบบนิเวศเป็นเรื่องซับซ้อน ทุกสิ่งแม้สิ่งเล็กๆ ที่ดูไม่สลักสำคัญล้วนส่งผลกระทบถึงกันเหมือน Butterfly Effect ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ที่ลดลงย่อมส่งผลกระทบถึงธรรมชาติในภาพที่ใหญ่กว่าตัวมันเอง

    ท่ามกลางการสูญเสียของสรรพชีวิต สัตว์จำนวนมากที่อยู่ไกลออกไปกำลังล้มหายตายจาก สวนทางกับเทรนด์การเลี้ยงสัตว์ของมนุษย์ พวกเรารักหมา แมว รวมถึงสัตว์อีกบางจำพวกราวกับสมาชิกในครอบครัว เลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี

    และคงจะดี...ถ้าสัตว์อื่นๆ ในธรรมชาติได้รับความรักแบบนั้นบ้าง อย่างน้อยพวกมันก็มีส่วนทำให้โลกนี้คงอยู่ต่อไปได้อย่างที่ควรจะเป็น

    HOW (ทำอย่างไรล่ะทีนี้)

    กระแส #หมูเด้ง ที่เกิดขึ้นทั่วโลก บอกว่าโลกนี้ยังมีหวัง และเผยให้เห็นว่าลึกๆ แล้วมนุษย์ยังมีความรักและเอ็นดูสัตว์มากเพียงใด

    “ฉันดีใจที่เห็นคนทั่วโลกชื่นชอบฮิปโปแคระเหมือนฉัน ฉันไม่รู้ว่ามันจะคงอยู่ตลอดไปหรือไม่--ช่วงเวลาไวรัลก็เหมือนกับความรักในฤดูร้อนที่มักจะเลือนหายไป...”

    ท่อนหนึ่งจากบทความ ฉันรักฮิปโปแคระมาตั้งแต่ก่อนที่โลกจะตกหลุมรักหมูเด้ง โดย นาตาชา เมย์

    ท่อนหนึ่งจากบทความ ฉันรักฮิปโปแคระมาตั้งแต่ก่อนที่โลกจะตกหลุมรักหมูเด้ง โดย นาตาชา เมย์ เผยแพร่ที่ The Guardian เมื่อปลายเดือนกันยายน ปี 2024 หลังหมูเด้งกลายเป็นกระแสดังไปทั่วโลก คล้ายเสียงเตือนจากเพื่อนที่หวังดี ไม่ให้เราหลงลืมความรู้สึกเอ็นดูและรักสัตว์ที่ผุดขึ้นในใจ พร้อมกับเตือนว่าอย่าลืมที่จะดูแลสรรพสัตว์ในธรรมชาติที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากเพราะการใช้ชีวิตของพวกเรา

    ‘เมื่อจะรักแล้ว อย่าลืมที่จะรักษ์ด้วย’ คล้ายเสียงกระซิบที่บทความของนาตาชา เมย์ เปล่งออกมาระหว่างบรรทัด โดยเราสามารถช่วยสรรพสัตว์ในธรรมชาติได้เพียงแค่ปรับพฤติกรรมเล็กๆ แต่ให้ผลยิ่งใหญ่ด้วยการเป็น Green Consumer เพียงแค่...

    PIC_05_f0f96b4ad5.jpg
    วิถี Green Consumer. Pexels
    • ซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly)
    • ลดขยะ บริโภคแต่พอดี ไม่ฟุ่มเฟือย (Reduce)
    • ใช้ซ้ำหรือซ่อมแซม (Reuse / Repair) พิจารณาว่าสิ่งของไหนใช้ซ้ำได้ และสิ่งของไหนเสียให้ซ่อมก่อน นอกจากช่วยโลกแล้ว ยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าด้วย
    • นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ข้อนี้ในฐานะผู้บริโภคปลายทางช่วยได้โดยการแยกขยะ หรือนำของที่ไม่ใช้ไปบริจาคตามหน่วยงานที่จะทำหน้าที่คัดแยกเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป เช่น มูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น 

    ขอปิดท้ายด้วยเรื่องจริงที่ดูจะตลกร้ายสักหน่อย จากข้อมูลในบรรทัดแรกที่ระบุว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 73%

    รู้หรือไม่ ประชากรมนุษย์เติบโตขึ้นมาเท่าไหร่ในช่วง 50 ปีนั้น

    ข้อมูลในปี 1970 ระบุว่า ประชากรโลกมีจำนวน 3,694,683,794 คน

    ปัจจุบัน ปี 2025 (ข้อมูล ณ วันที่ 12 มกราคม) ระบุว่า 8,199,210,363 คน หรือเพิ่มขึ้นมาราว 122%

    มนุษย์เพิ่มขึ้น สัตว์โลกลดลง โลกเผชิญกับภาวะโลกรวน สมการนี้บอกอะไร?

    เรื่องเด่นประจำสัปดาห์